คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยลักสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ป. ไป แล้วปลอมลายมือชื่อของ ป. ในใบถอนเงินของธนาคารโจทก์ร่วม แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมและได้รับเงินมานั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากโจทก์ร่วมเป็นหลัก ซึ่งแม้การกระทำนั้น ๆ จะเป็นความผิดแต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
จำเลยลักสมุดเงินฝากของ ป. และปลอมลายมือชื่อของ ป. ในใบถอนเงินของโจทก์ร่วม ถอนเงินออกจากบัญชีของ ป. เป็นเงินจำนวนมากถึง 900,000 บาทนับว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ทั้งปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจว่าจำเลยเคยลักเงินของเพื่อนและมารดาของจำเลยมาหลายครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดเอาเรื่อง จำเลยจึงไม่ถูกดำเนินคดี แม้จำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมก็เป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พฤติการณ์แห่งคดียังไม่เป็นการสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์สมุดเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเพชรเกษม 55 เลขที่ 300-1-01577-5 จำนวน 1 เล่มราคา 100 บาท ของนางประภาพร พรมแตง ผู้เสียหายไปโดยทุจริต หลังจากนั้นจำเลยทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับโดยกรอกข้อความลงในใบถอนเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเพชรเกษม 55 ว่าขอถอนเงินจำนวน 100,000 บาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ตามสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าว แล้วจำเลยปลอมลายมือชื่อของนางประภาพรผู้เสียหายลงในใบถอนเงินดังกล่าวในช่อง “ลายมือชื่อเจ้าของบัญชี”และช่อง “ลายมือชื่อผู้รับเงิน” แล้วจำเลยใช้เอกสารใบถอนเงินปลอมดังกล่าวยื่นต่อนางสาวอรวรรณ เอี่ยมแก้ว พนักงานฝ่ายการเงินของธนาคารและหลอกลวงนางสาวอรวรรณด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นเจ้าของสมุดเงินฝากที่ลักมาดังกล่าวและใบถอนเงินเป็นเอกสารที่แท้จริง ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวอรวรรณ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย และประชาชนเพื่อขอเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางประภาพร ผู้เสียหายโดยทุจริต เป็นเหตุให้นางสาวอรวรรณหลงเชื่อมอบเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่จำเลยไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 334, 341, 91 ให้จำเลยคืนสมุดเงินฝากหรือใช้ราคา 100 บาท และคืนเงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264(ที่ถูกคือมาตรา 264 วรรคแรก), 268 (ที่ถูกคือมาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก), 334, 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์จำคุก 1 ปี กระทงหนึ่ง ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม กับความผิดฐานฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 แต่บทเดียว จำคุก 1 ปีรวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 1 ปีให้จำเลยคืนสมุดเงินฝาก 1 เล่ม หรือใช้ราคา 100 บาท และคืนเงินจำนวน 100,000บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย (ที่ถูกคือให้จำเลยคืนสมุดเงินฝาก 1 เล่มหรือใช้ราคา100 บาท แก่นางประภาพร พรมแตง ผู้เสียหาย และคืนเงินจำนวน 100,000 บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วม)

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยลักสมุดเงินฝากของนางประภาพร และปลอมลายมือชื่อของนางประภาพรลงในใบถอนเงินของโจทก์ร่วมถอนเงินออกจากบัญชีของนางประภาพรเป็นเงินจำนวนมากถึง 100,000 บาท นับว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ประกอบกับได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติว่าจำเลยเคยลักเงินของเพื่อนและของมารดาจำเลยมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดเอาเรื่อง จำเลยจึงมิได้ถูกดำเนินคดี แม้จำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมก็เป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวยังไม่เป็นการสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยได้ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง แต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม โดยลงโทษฐานลักทรัพย์กระทงหนึ่งและลงโทษฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมกับความผิดฐานฉ้อโกงอีกกระทงหนึ่งรวมสองกระทงนั้น เห็นว่า ยังไม่ถูกต้องเพราะตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในการลักสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนางประภาพรไปแล้วปลอมลายมือชื่อของนางประภาพรในใบถอนเงินของโจทก์ร่วมแล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไปแสดงต่อพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม แล้วได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากธนาคารโจทก์ร่วมเป็นหลัก ซึ่งแม้การกระทำนั้น ๆ จะเป็นความผิด แต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share