แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมตามแบบมาตรา 1656 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานทั้งสองนั้นต้องลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นจึงจะสมบูรณ์ จึงต้องฟังข้อเท็จจริง (ให้) ได้ (ความ) ว่า มีการกระทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด มิใช่เพียงแต่ฟังตามตัวหนังสือที่เขียนขึ้นไว้ พินัยกรรมที่มีบันทึกผู้รู้เห็นเป็นพยาน 5 คน แต่คนหนึ่งในจำนวนนี้ไม่ได้ลงชื่อ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างพยานที่ลงชื่อ 4 คนนี้มาสืบว่า 3 คนในจำนวนนี้เซ็นชื่อลับหลังผู้ทำพินัยกรรม คงมีคนเดียวที่ผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ดังนี้ แม้จะเป็นการสืบพยานแก้ไขข้อความในเอกสารแต่ก็เป็นการนำสืบเพื่อแสดงความไม่สมบูรณ์ของเอกสารนั้น ย่อมนำสืบได้
ก. จำเลย กับ ฮ. บุตรของเจ้ามรดก ตกลงแบ่งมรดกกัน โดย ก. จำเลยตกลงแบ่งที่ดินหมายเลข 4 ให้ ฮ. ฮ. ก็ตกลงแบ่งที่ดินหมายเลข 5 ให้ ก. จำเลย และต่างทำเป็นหนังสือสละมรดกโดยต่างทำให้แก่กัน เมื่อปรากฏว่า ก. ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดก เพราะเป็นแต่สะใภ้ไม่มีอำนาจแบ่งมรดกได้ ข้อตกลงนี้ก็ไม่สมบูรณ์ และหนังสือนี้เป็นแต่ข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์มรดกเท่านั้น มิใช่เป็นการสละมรดกตามกฎหมาย เพราะยังมีข้อผูกพันจะต้องแบ่งมรดกบางส่วนตอบแทนให้ ฮ.ทายาทอื่นที่มิใช่คู่สัญญามีสิทธิจะอ้างข้อตกลงนี้ (หนังสือที่ ฮ.ทำ) เป็นประโยชน์แก่ตนไม่
พินัยกรรมที่ทำขึ้นผิดแบบตามมาตรา 1656 เป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไม่เป็นพินัยกรรมเสียแล้ว ความเสียเปล่านี้ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หากต้องฟ้องขอให้เพิกถอนไม่ มาตรา 1710 ใช้เฉพาะเมื่อเป็นพินัยกรรมแล้วเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายคำใหม่และนางอิ่งมีบุตร ๒ คน คือ นายส่างหมีและโจทก์ นายส่างหมีตายเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่มีบุตร ๗ คน คือ จำเลยที่ ๒, ๓ กับผู้อื่นอีก ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๑ นายคำใหม่ตาย ทรัพย์สินทั้งหมดตกอยู่กับนางยิ่งตลอดมา ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ นางอิ่งเจ้ามรดกตาย มีทรัพย์เป็นมรดกตามบัญชีท้ายฟ้อง จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดูแลและอาศัยอยู่ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงจะแบ่งมรดก และโจทก์ได้ขอรังวัดกับประกาศรับมรดก จำเลยที่ ๓ คัดค้านและอ้างว่ามีพินัยกรรมที่นางอิ่งทำไว้ โจทก์ดูแล้วปรากฏว่าพินัยกรรมมีพิรุธพยานไม่ได้เห็นผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์ลายนิ้วมือ ทั้งจำเลยที่ ๒ ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเรียงเขียนเอง จึงเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาแบ่งทรัพย์ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งและทำลายพินัยกรรม
จำเลยให้การว่า มรดกรายนี้มีพินัยกรรมโดยชอบ ที่โจทก์อ้างว่าขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕๓ ก็คงเสียสิทธิไปเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒ เท่านั้น หากโจทก์ถือว่าพินัยกรรมไม่ชอบก็ชอบที่จะฟ้องให้เพิกถอนภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด คดีขาดอายุความแล้วทั้งโจทก์ก็ได้เคยทำหนังสือสละสิทธิการรับมรดกให้จำเลยยึดถือไว้ด้วย และจำเลยยังให้การต่อสู้ในข้ออื่นอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ ให้แบ่งทรัพย์มรดกอันดับ ๔ และ ๕ กับข้าวเปลือง ๗๐ ถังให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยแบ่งทรัพย์อันดับ ๓, ๔, ๕ และ ๖ กับข้าวเปลือก ๗๐ ถังให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กึ่งหนึ่ง
จำเลยทั้งสามฎีกาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ในข้อกฎหมาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
๑. เรื่องพินัยกรรม จำเลยฎีกาว่าในเอกสารพินัยกรรมมีข้อความบันทึกว่าผู้เป็นพยานได้เห็นนางอิ่งพิมพ์ลายนิ้วมือด้วยตนเองต่อหน้าพบาน การที่ศาลรับฟังพยานบุคคลว่านางอิ่งไม่ได้ลงพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานนั้น เป็นการสืบแก้ไขถ้อยคำของตนเองในบันทึก ศาลฎีกาเห็นว่ากฎหมายกำหนดพินัยกรรมไว้หลายแบบ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ กำหนดไว้แบบหนึ่ง แบบนี้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นจึงจะสมบูรณ์ ต้องฟังข้อเท็จจริงว่าได้มีการกระทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด มิใช่เพียงแต่ฟังตามตัวหนังสือที่เขียนขึ้นไว้ พินัยกรรมในคดีนี้มีบันทึกผู้รู้เห็นเป็นพยานถึง ๕ คน แต่คนหนึ่งไม่ได้ลงชื่อ โจทก์ได้อ้างพยานอีก ๔ คนที่ลงชื่อนั้นมาเบิกความ ได้ความว่าพยานที่เห็นนางอิ่งลงชื่อในพินัยกรรมมีคนเดียว ส่วนอีก ๓ คนนั้นเซ็นชื่อเป็นพยานลับหลัง การนำสืบเช่นนี้ แม้จะสืบพยานแก้ไขข้อความในเอกสารแต่เป็นการนำสืบเพื่อแสดงความไม่สมบูรณ์ของเอกสารนั้น ย่อมนำสืบได้
๒. เรื่องหนังสือสละมรดก ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ต่างตกลงแบ่งมรดกที่ดินกัน โดยจำเลยที่ ๑ ตกลงแบ่งที่ดินหมายเลข ๔ ให้โจทก์ โจทก์ก็ตกลงแบ่งที่ดินหมายเลข ๕ ให้จำเลยที่ ๑ เจ้าหน้าที่อำเภอแนะนำวิธีให้ทำเป็นหนังสือสละมรดกโดยต่างทำให้แก่กัน โจทก์จึงทำหนังสือสละสิทธิในกองมรดกให้แก่จำเลยที่ ๑ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ทายาทของนางอิ่งเพราะเป็นแต่สะใภ้ ไม่มีอำนาจแบ่งมรดกได้ ข้อตกลงนี้ก็ไม่สมบูรณ์ หนังสือนี้เป็นแต่ข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์มรดกเท่านั้น มิใช่เป็นการสละมรดกตามกฎหมาย เพราะยังมีข้อผูกพันจะต้องแบ่งมรดกบางส่วนตอบแทนให้โจทก์ ทายาทอื่นมิใช่คู่สัญญาหามีสิทธิจะอ้างข้อตกลงนี้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่
๓. เรื่องอายุความ จำเลยฎีกาว่า คดีขอเพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมต้องฟ้องภายใน ๓ เดือน ว่าคดีขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๐ ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นผิดแบบเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๗๐๕ ไม่เป็นพินัยกรรมเสียแล้ว ความเสียเปล่านี้ ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ หาต้องฟ้องขอให้เพิกถอนไม่ บทกฎหมายที่จำเลยฎีกาใช้เฉพาะเมื่อเป็นพินัยกรรมแล้วเท่านั้น
ผลที่สุดศาลฎีกาแก้เฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์บางอันดับโดยอาศัยข้อเท็จจริง