คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13572/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อแร่ของกลางที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้บนที่ดินของจำเลย จากการขายหรือจำหน่ายของอธิบดีโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 15 จัตวา (1) แต่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์เข้าไปขนแร่ของกลางออกจากที่ดินของจำเลย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยมิให้ขัดขวางการขนย้ายแร่ของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารยอมให้โจทก์ใช้รถบรรทุกขนย้ายแร่ออกจากที่ดินของจำเลยโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 41771 และเลขที่ 41772 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ออกสู่ทางสาธารณะ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวหรือกระทำใด ๆ อันเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการขนย้ายแร่จนกว่าโจทก์จะทำการขนย้ายแร่เสร็จ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จะต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของบุคคลนั้นตามที่กฎหมายสารบัญญัติรับรองไว้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายรับรองไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำฟ้องเป็นคดีนี้ พิพากษายกฟ้อง ค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ คืนค่าส่งคำคู่ความให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แร่ของกลาง ซึ่งโจทก์ประมูลซื้อได้จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร โจทก์จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะขนย้ายแร่ของกลางนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อแร่ของกลางจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร แสดงว่าได้มีการกระทำความผิดอาญา ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัดแร่ของกลางไว้ตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 15 ทวิ วรรคหนึ่ง ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในอันที่จะยึดหรืออายัดบรรดาแร่ที่มีไว้เนื่องในการกระทำความผิดไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาจนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ถ้าทรัพย์สินหรือของกลางที่ยึดหรืออายัดไว้ ตามมาตรา 15 ทวิ หรือมาตรา 15 เบญจ จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินค่าของทรัพย์สิน อธิบดีก็มีอำนาจที่จะจัดการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินหรือของกลางก่อนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 15 ทวิ วรรคสอง หรือมาตรา 15 เบญจ วรรคสอง แล้วแต่กรณีได้และเมื่อได้เงินเป็นสุทธิเท่าใดก็ให้ยึดไว้แทนทรัพย์สินหรือของกลางนั้น ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 15 จัตวา (1) ดังนี้ การที่อธิบดีโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารได้ดำเนินการขายหรือจำหน่ายแร่ของกลางเพื่อที่จะยึดเงินไว้แทนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้และโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ จึงต้องถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 แม้จำเลยมิใช่คู่สัญญาซื้อขายแร่ของกลางกับโจทก์และการที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 41772 ซึ่งเป็นสถานที่เก็บแร่ของกลาง กับเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 41771 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์จำเป็นต้องใช้ที่ดินในการขนแร่ผ่าน โดยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่การที่จะใช้สิทธิแห่งความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์เช่นนั้นย่อมต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายอย่างเหมาะสมด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ซึ่งเกิดขึ้นบนที่ดินของจำเลยและการขายหรือจำหน่ายแร่ของกลางที่โจทก์ประมูลซื้อได้ โดยที่โจทก์ต้องไปขนแร่ของกลางเอง ย่อมต้องถือว่าโจทก์ได้รับส่งมอบแร่ของกลางจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในที่ดินของจำเลยเพราะหากพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการขนย้ายเองก็สามารถกระทำได้ เนื่องจากอำนาจในการยึดหรืออายัดบรรดาแร่ที่มีไว้เนื่องในการกระทำความผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมหมายรวมถึงอำนาจในการขนย้ายแร่ของกลางที่ยึดหรืออายัดจากสถานที่ที่พบหรือสถานที่เกิดเหตุเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดได้ด้วย เมื่อโจทก์กล่าวว่า โจทก์มีสิทธิในแร่ของกลาง อันเกี่ยวด้วยการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์เข้าไปขนแร่ของกลางออกมาจากที่ดินของจำเลย โดยในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีเหตุผลที่เหมาะสมอย่างไรในอันที่จะอ้างเป็นข้อต่อสู้อำนาจในการยึดหรืออายัดแร่ของกลางของพนักงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งการขายหรือจำหน่ายแร่ของกลางของอธิบดี ย่อมเรียกได้ว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยมิให้ขัดขวางการขนย้ายแร่ของกลางของโจทก์ได้ แม้จำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์และในการขนย้ายแร่ของกลางหากโจทก์กระทำเกินเลยขอบเขตก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ก็อาจต้องรับผิดชอบต่อจำเลยฐานทำละเมิดตามที่กฎหมายคุ้มครองสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของจำเลยอยู่แล้ว กรณีจึงควรต้องรับฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share