คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13536/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนคดีอาญา เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจนทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้วว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจกล่าวโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (8), 17, 18, 125 และ 127 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบจำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121, 130 และ 131 ซึ่งลักษณะความผิดที่กล่าวหาดังกล่าวบัญชีเงินฝากของโจทก์ย่อมเป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างหนึ่งที่อาจพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหาได้ จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจยึดหรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม และ 132 อันเป็นการดำเนินการทางอาญาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินตามอำนาจหน้าที่ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ
การดำเนินคดีส่วนแพ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการธุรกรรม โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและเป็นประธานกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายในขณะนั้นไว้เป็นขั้นตอนตั้งแต่มาตรการยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินไปจนถึงการให้อำนาจตรวจสอบ สืบสวนสอบสวนและส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรโดยค้าน้ำมันเถื่อนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (7) อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับการ กองตำรวจน้ำมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจจับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนย่อมมีอำนาจสืบสวนและรายงานข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นเลขาธิการและเป็นประธานกรรมการธุรกรรม เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่ามีพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าธุรกรรมใดของโจทก์เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 1 โดยมติที่ประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมย่อมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินของโจทก์ไว้เป็นการชั่วคราวได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 36
เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ทำการสืบสวน กล่าวโทษและรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมของโจทก์มีพยานหลักฐานอ้างจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแสดงลำดับการดำเนินการมาสนับสนุนได้ชัดเจนถึงเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและโจทก์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งทางไต่สวนของโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่อาจชี้ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้หรือควรรู้ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นความเท็จหรือโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือเป็นการแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นหรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือโดยทุจริตดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 157, 172, 173 และ 174

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 4, 32, 34, 35, 36 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 90, 91, 137, 157, 172, 173, 174 ให้จำเลยทั้งสามมีคำสั่งเพิกถอนการยึดและอายัดหรือการห้ามทำธุรกรรมสำหรับเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามคืนสมุดบัญชีเงินฝาก ทรัพย์สิน และเอกสารที่ยึดไว้แก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์มีมูลให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ทางไต่สวนของโจทก์ปรากฏตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม และสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารเพียงว่า เมื่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีส่งข้อมูลการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายสืบสวนจนทราบว่ากลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ของประเทศมี 3 กลุ่ม โดยมีกลุ่มของโจทก์กับพวกรวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 3 ได้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งโจทก์ และได้รายงานผลการสืบสวนต่อจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 1 โดยมติที่ประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม มีคำสั่งให้ยับยั้งการกระทำธุรกรรมทางการเงินของโจทก์กับพวกไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 10 วันทำการ ขณะเดียวกันผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนทำหน้าที่พนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบให้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าว โดยในการนี้จำเลยที่ 3 ได้สั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ 5 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 21 ล้านบาท เห็นว่า การดำเนินการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ล้วนอยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กล่าวคือ การที่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนคดีอาญา เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจนทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้วโจทก์อยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจกล่าวโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (8), 17, 18, 125 และ 127 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121, 130 และ 131 ซึ่งโดยลักษณะของความผิดที่กล่าวหา บัญชีเงินฝากของโจทก์ย่อมเป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างหนึ่งที่อาจพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหาได้ จำเลยที่ 3 มีอำนาจยึดหรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสาม และ 132 อันเป็นการดำเนินการทางอาญาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินตามอำนาจหน้าที่ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ สำหรับการดำเนินคดีส่วนแพ่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการธุรกรรม โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและเป็นประธานกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายในขณะนั้นไว้เป็นขั้นตอนตั้งแต่มาตรการยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินไปจนถึงการให้อำนาจตรวจสอบ สืบสวนสอบสวนและส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรโดยค้าน้ำมันเถื่อนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (7) อันเป็นความผิดฐานฟอกเงินด้วย จำเลยที่ 3 เป็นผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจจับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน ย่อมมีอำนาจสืบสวนและรายงานข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นเลขาธิการและเป็นประธานกรรมการธุรกรรม เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่ามีพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าธุรกรรมใดของโจทก์เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยที่ 1 โดยมติที่ประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมย่อมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินของโจทก์ไว้เป็นการชั่วคราวได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 36 และเมื่อพิจารณาประกอบกับการที่จำเลยที่ 3 ทำการสืบสวน กล่าวโทษและรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมกรณีของโจทก์มีพยานหลักฐานอ้างจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแสดงลำดับการดำเนินการมาสนับสนุนได้ชัดเจนถึงเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและโจทก์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งทางไต่สวนของโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่อาจชี้ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้ว่าข้อมูลที่ได้รับมาเป็นความเท็จหรือโจทก์มิได้กระทำความผิด หรือเป็นการแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นหรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือโดยทุจริตดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 157, 172, 173 และ 174
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้เป็นเวลานาน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาแก่โจทก์ แต่ถอนการยึดและอายัดแก่ผู้อื่นโดยเร็วเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเงินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ อย่างไร เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ทางไต่สวนของโจทก์ปรากฏตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงว่า หลังจากมีการยึดทรัพย์สินและอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดรวมทั้งโจทก์แล้ว คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ประชุมร่วมกับทนายความฝ่ายโจทก์ในการพิจารณาคืนทรัพย์สินที่ยึดและอายัดไว้รวม 18 รายการ ในจำนวนนี้เป็นการถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์กับสามีถึง 9 รายการ การยึดและอายัดกระทำในฐานะคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีจำนวนถึง 31 คน หากเป็นการเลือกปฏิบัติและกระทำเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือโดยทุจริต ไม่น่าจะต้องสั่งถอนการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องรายอื่นกับทรัพย์สินและเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์กับสามีจำนวน 9 รายการ ดังนั้น การที่คงอายัดบัญชีเงินฝาก 5 บัญชี ตามฟ้องไว้เพียงรายการเดียว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ สำหรับข้อที่โจทก์อ้างว่า มีการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลานานเกือบ 10 เดือน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา เมื่อโจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัด จำเลยที่ 3 ก็เพิกเฉย เห็นว่า ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า เงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์เป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจอายัดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสาม เมื่อคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนยังไม่ถึงที่สุด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เช่นกัน ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าเงินที่อายัดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ อย่างไร ก็ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารว่า นอกจากจำเลยที่ 3 กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ร่วมกับพวกลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนแล้วยังได้มอบเอกสารหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของโจทก์กับพวกแก่พนักงานสอบสวนด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์ในรูปของเงินเบี้ยเลี้ยงจ่ายแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ก็ปรากฏจากคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 3 เพียงว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการค้าน้ำมันเถื่อนแก่เจ้าพนักงานตำรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินดังกล่าวอย่างไร ในทางตรงกันข้ามโจทก์กลับยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์เคยให้เงินแก่จำเลยที่ 3 เพื่อเป็นค่าเลี้ยงรับรองในโอกาสที่จำเลยที่ 3 ย้ายมารับตำแหน่งใหม่อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ค้าน้ำมันจนนำไปสู่การที่จำเลยที่ 3 ได้แจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ในการสั่งยับยั้งการทำธุรกรรมทางการเงินของโจทก์ และพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ในการสืบสวนสอบสวน กล่าวโทษ รายงานผลการสืบสวนและสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่มีมูลความผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share