คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจอยู่ในบังคับแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานที่มิให้ ใช้บังคับแก่การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวง กำไรในทางเศรษฐกิจนั้นหมายถึงเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่ว ๆ ไปตามที่จำแนกไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหมวดที่ 1 ถึงหมวดที่ 9 เท่านั้นไม่หมายถึงเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทุกคนเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่เป็นครูโรงเรียนวัฒนวุฒิวิทยา มีจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของ และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์แต่ละคนเดือนละ ๑,๓๕๐ บาท ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๒๓ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๒๔ ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่จ่ายไม่ครบ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๐) ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๒๓ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๒๔ ให้แก่โจทก์คนละ ๓,๒๔๐ บาท และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๑) ให้โจทก์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๒๔ เป็นต้นไป
จำเลยที่ ๑ ขาดนัด
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า กิจการโรงเรียนของจำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ รายได้ที่จัดเก็บจากนักเรียนไม่คุ้มกับเงินตอบแทนที่จำเลยจะต้องนำมาจ่ายให้ครู จำเป็นต้องรับเงินอุดหนุนช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ กิจการของจำเลยไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายคุมครองแรงงานขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๙ คนละ ๖๐๐ บาท ๓,๒๔๐ บาท ๓,๒๔๐ บาท ๓,๒๔๐ บาท ๒๔๐ บาท ๒,๙๔๐ บาท ๓,๒๔๐ บาท ๑,๔๔๐ บาท ตามลำดับ และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๓ ถึงโจทก์ที่ ๙ อย่างน้อยเดือนละ ๑,๘๓๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เป็นต้นไป จนกว่าจะมีกฎหมายกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอย่างอื่น ส่วนที่โจทก์ที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่อยู่ในบังคับแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ที่ใดว่าการจ้างการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจไม่อยู่ในบังคับแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการจ้างของจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่เพราะแม้จะฟังว่ากิจการของจำเลยเป็นการจ้างการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ก็ตกอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอยู่นั่นเอง
ที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ซึ่งความในข้อ ๒ มีว่า “ข้อ ๒ ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดการคุ้มครองแรงงานดังต่อไปนี้…..(๔) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ”การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ…..”การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามข้อ (๔) ก็เป็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานในข้อ ๒ นั่นเอง ดังนั้นเมื่อเรื่องการคุ้มครองแรงงานประกาศกระทรวงมหาดไทยมิให้ใช้บังคับแก่การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงไม่ใช้บังคับแก่การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วยนั้น เห็นว่าแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้งสองฉบับจะมีเจตนารมณ์เพื่อการคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่ก็แยกเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่ว ๆ ไปและเรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในประกาศคนละฉบับ ประกาศทั้งสองฉบับลงวันเดือนปีเดียวกัน คือวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ แสดงให้เห็นเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งว่าประสงค์จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เป็นพิเศษ การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ว่ามิให้ใช้บังคับแก่การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงต้องหมายถึงเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่ว ๆ ไป ตามที่จำแนกไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน หมวดที่ ๑ ถึงหมวดที่ ๙ เท่านั้น ไม่หมายถึงเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย ถ้าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานประสงค์จะยกเว้นไปถึงเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย ก็ต้องมีข้อความระบุไว้ให้ชัดแจ้ง
พิพากษายืน

Share