แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำข้อตกลงกันเป็นหนังสือมีความหมายว่า จำเลยตกลงเพิ่มค่าจ้างเงินเดือนให้พนักงานคนละ 2 ขั้น ผู้แทนของจำเลยจะนำข้อตกลงเสนอต่อคณะกรรมการของจำเลยต่อไป ดังนี้ การที่จำเลยนำสืบว่า ข้อตกลงมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงมิใช่การแปลความหมายของข้อความในหนังสือข้อตกลง แต่เป็นการอ้างว่ายังมีข้อความอื่นเพิ่มเติมข้อความในหนังสือนั้นอยู่อีก ต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจใดปรับปรุงอัตราค่าจ้าง เงินเดือนเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ การที่โจทก์จำเลยตกลงกันปรับปรุงอัตราค่าจ้างและเงินเดือน โดยไม่ได้กำหนดให้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรี ไม่มีผลบังคับ และแม้ความตกลงดังกล่าวได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯก็ไม่เป็นเหตุให้กลับกลายเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยขอให้เพิ่มเงินเดือนให้พนักงานทุกคนคนละสองขั้นเป็นบำเหน็จพิเศษ ผู้แทนโจทก์กับผู้แทนจำเลยได้เจรจากันผลที่สุดตกลงกันได้เมื่อวันที่ ๙ และ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ โดยจำเลยตกลงเพิ่มเงินเดือนให้ตามที่โจทก์เรียกร้อง และนำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯแล้ว ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานทุกคนคนละสองขั้น ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ เป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานคนละสองขั้นเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่เงื่อนไขดังกล่าวยังไม่สำเร็จ โดยจำเลยยังมิได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจึงเพิ่มเงินเดือนให้ไม่ได้ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยตกลงเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน การที่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเพราะเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ ไม่เป็นการผิดข้อตกลง พิพากษายกฟ้อง
ผู้พิพากษาสมทบคนหนึ่งทำความเห็นแย้ง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่าเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจใดปรับปรุงอัตราค่าจ้างเงินเดือน ของพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอันขาด จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะได้ปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้าง เงินเดือนของรัฐวิสาหกิจแล้ว หรือได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ สหภาพแรงงานพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ข้อเรียกร้องข้อหนึ่งมีความว่า ให้เพิ่มเงินเดือนพนักงานคนละ ๒ ขั้น ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งผู้แทนเจรจากับโจทก์ ได้เจรจากันหลายครั้ง ครั้นวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ ได้บันทึกข้อตกลงกันไว้ว่าฝ่ายบริหารเห็นด้วยในหลักการให้มีการเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานคนละ ๒ ขั้นเป็นบำเหน็จพิเศษ และให้ตั้งคณะกรรมการสองฝ่ายพิจารณาหาทางต่อไป ถ้าอยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหารก็พิจารณาให้ได้เลย แต่ถ้าไม่อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารจะเสนอตามขั้นตอนต่อไปวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ ทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันไว้ว่าฝ่ายบริหารตกลงให้บำเหน็จพิเศษแก่พนักงานคนละ ๒ ขั้น และจะได้เสนอคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยต่อไป จำเลยได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมแรงงานไว้แล้ว วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๔ คณะกรรมการการท่าเรือได้ประชุมพิจารณาข้อเรียกร้องของโจทก์และข้อตกลงที่ทำกันไว้แล้วมีมติว่า เห็นสมควรให้มีการปรับปรุงเงินได้ และให้ส่งกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ต่อมากระทรวงคมนาคมแจ้งว่า เรื่องเพิ่มเงินเดือนและค่าจ้างของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจกำลังอยู่ในระหว่างคณะกรรมการนโยบายค่าตอบแทนรัฐวิสาหกิจพิจารณาอยู่แล้วให้รอผลการพิจารณาของรัฐบาลก่อน
ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยตกลงให้บำเหน็จพิเศษแก่พนักงานของจำเลยโดยเพิ่มค่าจ้างเงินเดือนให้คนละสองขั้น ผู้แทนของจำเลยจะนำข้อตกลงเสนอต่อคณะกรรมการของจำเลยต่อไป การที่จำเลยนำสืบว่าข้อตกลงมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะปฏิบัติตามข้อตกลงเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว มิใช่การแปลความหมายของข้อความใดในหนังสือข้อตกลง แต่เป็นการอ้างว่ายังมีข้อความอื่นเพิ่มเติมข้อความในหนังสือนั้นอยู่อีก การนำสืบเช่นนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวหามีเงื่อนไขไม่อย่างไรก็ดี ความตกลงของจำเลยที่ตกลงให้บำเหน็จพิเศษแก่พนักงานคนละ ๒ ขั้นนั้นเป็นการให้แก่พนักงานทุกคนโดยไม่คำนึงถึงความดีความชอบ ไม่มีลักษณะเป็นการให้บำเหน็จอันจะอยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหารของจำเลย แต่เป็นการปรับปรุงอัตราค่าจ้างหรือเงินเดือนตามความหมายของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ซึ่งห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจใดกระทำการดังกล่าวเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีดังจะเห็นได้ตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓ ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจหน้าที่ยับยั้งการกระทำใด ๆ ของจำเลยซึ่งขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีได้ เป็นต้น ส่วนพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน การที่โจทก์จำเลยตกลงกันปรับปรุงอัตราค่าจ้างและเงินเดือนโดยไม่ได้กำหนดให้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน เป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องการเงินของรัฐวิสาหกิจอันเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน จึงไม่มีผลบังคับ แม้การที่ความตกลงดังกล่าวได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ก็ไม่เป็นเหตุให้กลับกลายเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับกันได้โจทก์จึงจะนำข้อตกลงนี้มาฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามมิได้
พิพากษายืน