คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้สร้างตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาท แต่ยังเดินผ่านและรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นเข้าออกได้สะดวก ไม่ทำให้เสื่อมสภาพต่อการใช้ประโยชน์แห่งทางภารจำยอมพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงลักษณะแห่งภารจำยอมมิใช่บทบัญญัติห้ามเจ้าของภารยทรัพย์สร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอมพิพาทกว้าง 2 เมตร ยาวจากถนนรองเมือง ซอย 3 จดที่ดินโฉนดเลขที่ 2016 ของโจทก์ลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 2121 ของจำเลย เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2016 ของโจทก์ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครภายในกำหนด 15 วัน หากจำเลยไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าการปลูกสร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาทของจำเลยขัดต่อสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3 มีว่า “นายประเสริฐ จิตต์จารึก ตกลงจะไปจดทะเบียนให้ที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ 2121 เลขที่ดินที่ 64 ด้านที่ติดกับที่ดินของนางจำเนียร ปันยารชุน มีความกว้างสองเมตรยาวตลอดจากถนนรองเมือง ซอย 3 จดโฉนดที่ดินเลขที่ 2016 เลขที่ดินที่ 39 เป็นภารจำยอมให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2016 เลขที่ดินที่ 39 ใช้เป็นทางผ่านเข้าออกสู่ถนนรองเมืองซอย 3” ซึ่งตามข้อสัญญาดังกล่าวมานี้จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนทางภารจำยอมพิพาทให้โจทก์ผ่านเข้าออก มิได้มีข้อห้ามจำกัดมิให้จำเลยใช้ปลูกสร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาท ฉะนั้นจำเลยจึงมีสิทธิปลูกสร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาทได้ ไม่ฝ่าฝืนสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใด

ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยปลูกสร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาททำให้การผ่านเข้าออกไม่สะดวกเป็นการปิดบังโรงเจและทิวทัศน์เป็นการเสื่อมสภาพต่อการใช้ประโยชน์แห่งทางภารจำยอมพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 บัญญัติว่า “ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก” ดังนั้นจึงควรพิเคราะห์ว่าการปลูกสร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ใช้ประโยชน์จากทางภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้เห็นว่าโจทก์และจำเลยได้แถลงรับกันว่าทางภารจำยอมพิพาทใช้เดินผ่านเข้าออกได้สะดวก รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นเข้าออกได้สะดวก ทั้งปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 กันยายน 2523 ของศาลชั้นต้นที่เดินเผชิญสืบว่าทางภารจำยอมพิพาทกว้าง 5 เมตร หลังคาอาคารที่คร่อมทางสูงจากพื้นทางภารจำยอมพิพาทประมาณ 6 เมตร เป็นทางคอนกรีต มีท่อระบายน้ำ และบนทางภารจำยอมพิพาทไม่มีวัสดุก่อสร้างกีดขวาง หากหันหน้าเข้าทางภารจำยอมพิพาทเพื่อเดินเข้าสู่โรงเจของโจทก์ ทางขวามือจะเปิดโล่งมีแต่เสาอาคารเป็นคอนกรีตห่างกันเป็นระยะ ๆ รวม 5 ต้น นอกจากนี้ตามภาพถ่ายหมายเลข 3 และ 4 ท้ายฟ้องโจทก์ ก็เห็นชัดเจนว่าแต่เดิมก็มีโรงไม้ปลูกยื่นคร่อมทางภารจำยอมพิพาท โดยเหตุนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการใช้ทางภารจำยอมพิพาทผ่านเข้าออกที่ดินโฉนดเลขที่ 2016 ของโจทก์เป็นไปด้วยความสะดวก มิได้ลดหรือเสื่อมความสะดวก จึงไม่จำต้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาท อนึ่งที่โจทก์โต้เถียงอีกว่าเป็นการปิดบังโรงเจและทิวทัศน์เป็นการเสื่อมสภาพต่อการใช้ประโยชน์แห่งทางภารจำยอมพิพาทนั้น ก็เห็นว่าเมื่อฟังได้ว่าการใช้ทางภารจำยอมพิพาทของโจทก์สะดวกดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ก็ไม่ทำให้เสื่อมสภาพต่อการใช้ประโยชน์แห่งทางภารจำยอมพิพาทแต่ประการใด

ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า ทางภารจำยอมพิพาทไม่มีสิ่งปลูกสร้างเหนือพื้นดิน จำเลยจะต้องงดเว้นสร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงลักษณะแห่งภารจำยอม มิใช่บทบัญญัติห้ามมิให้เจ้าของภารยทรัพย์สร้างอาคารตึกคร่อมทางภารจำยอมพิพาทดังฎีกาของโจทก์”

พิพากษายืน

Share