คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมคงมีแต่จำเลยที่1ให้การต่อสู้ไว้ส่วนจำเลยที่2ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องฟ้องเคลือบคลุมดังนี้ข้ออ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามฎีกาของจำเลยที่2จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่มีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องในกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังให้การต่อสู้ไว้แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นไว้แต่จำเลยที่1ก็ยื่นคำแถลงคัดค้านเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ชื่อแอล-ไลซีน โมโนไฮโดรคลอไรด์ และมอบให้บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จำหน่ายในนามโจทก์ เงินที่จำหน่ายต้องส่งโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชอบในการขายสินค้า เพียงแต่จะได้รับผลตอบแทนตามราคาสินค้าที่ขาย จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์(ประเทศไทย) จำกัด มีหน้าที่ขายอาหารสัตว์แอล-ไลซีนฯและเก็บเงินส่งให้แก่โจทก์ ในการจำหน่ายอาหารสัตว์แอล-ไลซีนฯโจทก์ตกลงจำหน่ายให้แก่บริษัทซี.พี.อินเตอร์เทรดจำกัด และบริษัทเจียไต่ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด ถูกกว่าลูกค้ารายอื่นกิโลกรัมละ 10 บาท ระหว่างเดือนตุลาคม 2529ถึงเดือนเมษายน 2531 จำเลยทั้งสองร่วมกันขายอาหารสัตว์แอล-ไลซีนฯของโจทก์และเก็บเงินส่งให้โจทก์รวม 25 ครั้งคิดเป็นราคาขายทั้งสิ้น 9,328,750 บาท อ้างว่าเป็นการขายให้บริษัทซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด 4 ครั้ง ขายให้บริษัทเจียไต๋ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด 21 ครั้ง การขายทั้ง 25 ครั้งนี้เป็นการขายถูกกว่าลูกค้าทั่วไป คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,314,200 บาทต่อมาโจทก์ตรวจพบว่าการขายอาหารสัตว์แอล-ไลซีนฯ ทั้ง 25 ครั้งไม่ได้ขายให้บริษัททั้งสองและบริษัททั้งสองไม่ได้สั่งซื้อจึงไม่ได้เป็นผู้ชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองอ้างชื่อบริษัททั้งสองว่าเป็นผู้สั่งซื้อและชำระเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเงินทั้งสิ้น 1,314,200 บาทโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์แต่ไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้เป็นลูกจ้างโจทก์ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์อย่างไร และเก็บเงินให้โจทก์ในฐานะอะไร บริษัทซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด และบริษัทเจียไต๋ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด เป็นผู้สั่งซื้อสินค้า25 ครั้ง ตามฟ้อง แต่จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขาย โจทก์ได้รับราคาค่าสินค้าไปครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เคยทำงานแผนกขายสินค้าอาหารสัตว์ แอล-ไลซีนฯ ในระหว่าง พ.ศ.2529 ถึงเดือนมิถุนายน 2530ในนามบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัดไม่เคยได้รับมอบหมายจากโจทก์และไม่เคยเก็บเงินส่งโจทก์จำเลยที่ 2 ไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสินค้าดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้ย้ายไปทำงานแผนกอื่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2530และได้ลาออกไปเมื่อเดือนตุลาคม 2530 จึงไม่ต้องรับผิดในการขายตั้งแต่ในช่วงดังกล่าวเป็นต้นไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดจำนวนเงิน 1,314,200 บาท ให้จำเลยที่ 2 รับผิดจำนวนเงิน 1,110,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าโจทก์ผลิตอาหารสัตว์แอล-ไลซีน โมโนไฮโดรคลอไรด์ มอบให้บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จำหน่ายโดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาฝากขายสินค้าเอกสารหมาย ล.2จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย)จำกัด โดยจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าแผนกขายและจำเลยที่ 2เป็นพนักงานขาย จำเลยทั้งสองได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้มีหน้าที่ขายสินค้าดังกล่าว ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่าระหว่างเดือนตุลาคม2529 ถึงเดือนพฤษภาคม 2531 มีเอกสารแสดงการขายสินค้าอาหารสัตว์แอล-ไลซีนฯ ให้แก่บริษัทซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด4 ครั้ง และขายให้แก่บริษัทเจียไต่ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด21 ครั้ง โดยมีเช็คของผู้อื่นซึ่งมิใช่ของลูกค้าทั้งสองชำระค่าสินค้านั้นแล้ว และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ขายและรับชำระราคาสินค้านั้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 2ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันแอบอ้างชื่อลูกค้าทั้งสองรายอย่างไร และจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างไรเมื่อใด และจำเลยที่ 2 ได้รับส่วนลดจากผลประโยชน์อย่างใด วิธีไหนเมื่อใด และจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า ในปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมนี้ คงมีแต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์อย่างไรและเก็บเงินให้โจทก์ในฐานะใด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องฟ้องเคลือบคลุมดังนี้ ข้ออ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามฎีกาของจำเลยที่ 2ดังกล่าว จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาข้อต่อไปของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังให้การต่อสู้ไว้ แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นไว้แต่จำเลยที่ 1 ก็ยื่นคำแถลงคัดค้านเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาแล้ว ตามคำแถลงลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2532 ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสัตว์แอล-ไลซีนฯและมอบให้บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย)จำกัด เป็นผู้จำหน่ายในนามโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชอบในการขายสินค้าเพียงแต่ได้รับผลตอบแทนตามราคาสินค้าที่ขายได้ จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัดมีหน้าที่ขายสินค้าดังกล่าว ได้อ้างชื่อบริษัทซี.พี.อินเตอร์เทรดจำกัด และบริษัทเจียไต๋ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัดซึ่งมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากบริษัททั้งสองเป็นผู้ซื้อจะได้ราคาถูกกว่าผู้อื่นกิโลกรัมละ 10 บาท แต่จำเลยทั้งสองขายสินค้าของโจทก์ให้ผู้อื่นแล้วเบียดบังเอาส่วนลดนั้นเป็นของตนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย เช่นนี้เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่มีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยทั้งสองมิใช่ลูกจ้างโจทก์นั้น เป็นเรื่องของการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่อาจรับฟังแล้ว เพราะการกระทำละเมิดไม่จำต้องมีนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำละเมิดกับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผลแห่งการละเมิดนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปคือจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับเงินค่าอาหารสัตว์แอล-ไลซีนฯตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.27 ครบถ้วนแล้วโจทก์จึงไม่เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นละเมิดกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้ออื่นต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share