คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นสามีจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ฟ้องขอหย่าขาดกับจำเลยต่อศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพระนครในเขตศาลแพ่ง แต่มูลคดีอันเป็นเหตุขอหย่าตามที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นในจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งตัวโจทก์และพยานโจทก์มีภูมิลำเนาในจังหวัดอุตรดิตถ์ ถ้าดำเนินการพิจารณาในศาลจังหวัดอุตรดิตถ์จะเป็นการสดวกจึงขออนุญาตยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่นนี้ บทกฎหมายอันว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งนั้นบัญญัติขึ้นเพื่อจะให้ความสดวกแก่การฟ้องร้องคดีการต่อสู้คดีและการพิจารณาคดีประกอบกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) จะเห็นได้ว่ากฎหมายให้พิจารณาถึงความสดวกเป็นสำคัญ จะว่าหากให้ฟ้องยังศาลจังหวัดอุตรดิตถ์จำเลยจะต้องลำบากในการไปจากจังหวัดพระนคร แต่การให้ไปฟ้องยังศาลในจังหวัดพระนครโจทก์ก็ต้องลำบากเช่นเดียวกัน ตามเหตุที่อ้างในคำร้องของโจทก์นั้น ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นศาลที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) และการให้ฟ้องยังศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นการสดวกแก่พยาน หากศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ยังไม่เป็นที่พอใจตามคำร้องของโจทก์หรือสงสัยประการใด ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์จะสอบถามหรือไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 ก่อนก็ได้
กรณีเช่นนี้ กล่าวทางแง่ของจำเลย หากศาลจังหวัดอุตรดิตถ์อนุญาตให้โจทก์ฟ้องที่ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ ถ้าไม่มีเหตุสมควรที่จะทำการพิจารณาในศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ จำเลยก็ยังมีทางแก้ไข โดยยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6 ขอโอนคดีไปยังศาลในจังหวัดพระนครได้

ย่อยาว

โจทก์ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ขอหย่าขาดกับจำเลยและโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพระนครในเขตศาลแพ่ง แต่มูลคดีอันเป็นเหตุขอหย่าตามที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นในจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งตัวโจทก์และพยานโจทก์มีภูมิลำเนาในจังหวัดอุตรดิตถ์ ถ้าดำเนินการพิจารณาในศาลจังหวัดอุตรดิตถ์จะเป็นการสะดวกจึงขออนุญาตยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดอุตรดิตถ์

ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์สั่งว่าได้พิเคราะห์คำร้องและคำฟ้องแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะอนุญาตให้โจทก์ยื่นฟ้องที่ศาลนี้ได้จึงไม่อนุญาต ให้โจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจต่อไป

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า หญิงมีสามีนั้น เมื่อสามีมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ก็ต้องถือภูมิลำเนาของสามีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 50 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นในวรรคสองอย่างไรก็ดี โจทก์อ้างมาในคำร้องว่า ว่าจำเลยซึ่งเป็นภรรยามีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพระนคร จึงต้องถือตามโจทก์ว่า ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า บทกฎหมายอันว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งนั้น บัญญัติขึ้นเพื่อจะให้ความสดวกแก่การฟ้องร้องคดีการต่อสู้คดี และการพิจารณาคดีประกอบกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) จะเห็นได้ว่ากฎหมายให้พิจารณาถึงความสดวกเป็นสำคัญ ที่โจทก์ร้องมานั้นก็ไม่ใช่ปราศจากเหตุผล คือ มูลคดีเกิดในจังหวัดอุตรดิตถ์ พยานโจทก์ก็มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเดียวกัน จะว่าหากให้ฟ้องยังศาลจังหวัดอุตรดิตถ์จำเลยจะต้องลำบากในการไปจากจังหวัดพระนคร แต่การให้ไปฟ้องยังศาลในจังหวัดพระนคร โจทก์ก็ต้องลำบากเช่นเดียวกันเมื่อมูลคดีเกิดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นศาลที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(2) และเมื่อพยานโจทก์อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์การให้ฟ้องบังศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นการสดวกแก่พยาน หากศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ยังไม่พอใจหรือสงสัยประการใด ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์จะสอบถามหรือไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 ก่อนก็ได้ อนึ่งกล่าวทางแง่ของจำเลย หากศาลจังหวัดอุตรดิตถ์อนุญาตให้โจทก์ฟ้องที่ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ ถ้าไม่มีเหตุสมควรที่จะทำการพิจารณาในศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ จำเลยก็ยังมีทางแก้ไข โดยยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6 ขอโอนคดีไปยังศาลในจังหวัดพระนครได้

ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลทั้งสองดังกล่าวให้ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์รับฟ้องของโจทก์ไว้

Share