แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องหรือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 198 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวกลับมายื่นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยเลี่ยงอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไข คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ที่บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 2,600 เม็ด น้ำหนัก 232.4 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 49.161 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 800 เม็ด น้ำหนัก 70.63 กรัม โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสอง วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 20 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี และปรับ 200,000 บาท รวมจำคุก 35 ปี และปรับ 700,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จำเลยไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด
จำเลยยื่นคำร้องว่า เมทแอมเฟตามีน 800 เม็ดที่จำเลยจำหน่ายไม่ปรากฏน้ำหนักสารบริสุทธิ์ จึงต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง และที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 2,600 เม็ด น้ำหนัก 232.4 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 49.161 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการฟ้องผิดโดยนำเมทแอมเฟตามีน 800 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายเข้ามารวมด้วย ซึ่งความผิดฐานจำหน่ายเป็นความผิดที่แยกออกจากความผิดฐานมีไว้ในครอบครองจึงไม่สามารถนำเมทแอมเฟตามีนไปรวมกันได้ ขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะแก้ไขปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องหรือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 และมาตรา 198 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวกลับมายื่นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยเลี่ยงอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ที่บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน