คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาคำฟ้องต้องดูทั้งฉบับ เมื่อดูทั้งฉบับแล้วจึงจะเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องอย่างไร แม้โจทก์จะกล่าวในช่องคู่ความข้างต้นกำกวมบ้าง ก็หามีความสำคัญแก่คดีไม่ และไม่ใช่เรื่องที่ศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ด้วย
ลูกหนี้กู้เงินโจทก์ไปโดยทำหลักฐานให้ไว้เป็นหนังสือหลังจากนั้นลูกหนี้คนนั้นออกเช็คเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์แล้วขอรับหลักฐานการกู้เงินคืนไป เช่นนี้ มิใช่เป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งหนี้แต่ประการใด เพราะหนี้ที่มีต่อกันนั้น มิได้มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไป ตามกฎหมายจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ฉะนั้น เมื่อปรากฏต่อมาว่าลูกหนี้ตาย เช็คของลูกหนี้นั้นยังขึ้นเงินไม่ได้ หนี้เดิมจึงยังหาระงับไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในปี พ.ศ. 2499 นายวิจิตร รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ได้กู้เงินไปจากโจทก์หลายครั้งเป็นเงิน 80,000 บาท การกู้ทุกครั้งได้ทำหลักฐานการกู้เงินเป็นหนังสือ ต่อมานายวิจิตร ฯ ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารอเมริกาเพื่อชำระหนี้โจทก์ แล้วขอรับหลักฐานการกู้เงินคืนไป แต่เมื่อโจทก์ได้นำเช็คไปเข้าบัญชี ธนาคารแจ้งว่าบัญชีนายวิจิตร ฯ ปิดแล้ว ต่อมานายวิจิตร ฯ ถึงแก่กรรม โจทก์ได้ทวงถามหนี้สินรายนี้ไปยังหลวงเสรีเริงฤทธิ์บิดานายวิจิตร ฯ ในฐานะทายาทแต่ไม่ได้รับชำระก่อนถึงแก่กรรม นายวิจิตร ฯ เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และได้โอนที่ดินให้แก่บิดาตนเพื่อให้เจ้าหนี้เสียเปรียบขอให้มีคำสั่งให้จัดการทรัพย์สินในกองมรดกของนายวิจิตร ฯ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย

หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (พล อ.จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทายาทกองมรดกนายวิจิตร ฯ จำเลย ให้การปฏิเสธต่อสู้

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์กองมรดกนายวิจิตร ฯ เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย

พล.อ.จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จัดการทรัพย์มรดกนายวิจิตร ฯ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย

พล.อ.จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมาชอบแล้ว ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 82, 83 ผู้ฎีกาก็รับอยู่ในฎีกา ไม่ได้เถียงว่า เจ้าหนี้จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายไม่ได้ เถียงแต่ว่า โจทก์เขียนฟ้องไม่ถูกต้องและอ้างว่าศาลอาจยกฟ้องโจทก์เสียได้เท่านั้น ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องในคดีนี้ได้เป็นไปตามหลักที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 บัญญัติไว้แล้ว กล่าวคือเมื่อได้อ่านฟ้องข้อสุดท้ายประกอบเข้าด้วยแล้ว ก็ปรากฏชัดว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจมาตรา 82, 83 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย การพิจารณาคำฟ้องต้องดูทั้งฉบับ และคำฟ้องในคดีนี้เมื่อดูทั้งฉบับแล้ว ก็เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องอย่างไรแม้จะกล่าวในช่องจำเลยข้างต้นกำกวมบ้าง ก็มิได้ทำให้เสียไป ฉะนั้นข้อที่ฎีกาขึ้นมานี้ จึงหามีความสำคัญแก่คดีไม่ และเมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24

เรื่องมูลหนี้ของโจทก์ เห็นว่า การปฏิบัติต่อกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ตามข้อเท็จจริงที่ผู้ฎีกากล่าวไว้ มิใช่เป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 แต่ประการใดเลย เพราะหนี้ที่มีต่อกันนั้นมิได้มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ รูปเรื่องเป็นการที่นายวิจิตร ฯ ลูกหนี้ นำเช็คมามอบให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เป็นการชำระหนี้เมื่อเช็คของนายวิจิตร ฯ ลูกหนี้ขึ้นเงินไม่ได้ หนี้เดิมจึงยังหาระงับไปไม่

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย

Share