คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12979/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ชั่วครั้งคราว จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน บุคคลซึ่งรับดูแลต้องมีเจตนาที่จะรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ อาจเกิดจากหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ตามสัญญา ตามวิชาชีพ หรือตามพฤติการณ์ ส่วนบุคคลผู้ไร้ความสามารถหมายถึง ผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี ถือว่าเป็นผู้เยาว์ การที่จ่าสิบตำรวจ ว. ขับรถยนต์ของทางราชการนำจำเลยที่ 1 กับพวกไปส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ แต่ไม่มีเจตนาที่จะรับดูแลจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 430 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ จ่าสิบตำรวจ ว. ลงจากรถ โดยดับเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้นำกุญแจรถยนต์ติดตัวไปด้วย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลบหนี โดยขับรถยนต์ของทางราชการไปและก่อให้เกิดความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของจ่าสิบตำรวจ ว. การที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อขับรถไปก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง ผลแห่งละเมิดมิได้เกิดจากจ่าสิบตำรวจ ว. ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับในผลแห่งละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 359,635 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 359,635 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 9842 กระบี่ และรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 81 – 6598 เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จ่าสิบตำรวจวินัย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองกระบี่ ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 4 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ถก 873 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถที่ใช้ในทางราชการประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองกระบี่ เพื่อไปส่งจำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี และเด็กชาย ค. อายุ 14 ปี ผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดกระบี่ ระหว่างทางพบกลุ่มวัยรุ่นทะเลาะวิวาทกัน จ่าสิบตำรวจวินัยจึงไประงับเหตุ โดยจอดรถดับเครื่องยนต์แล้วลงจากรถยนต์ แต่คงเสียบกุญแจรถยนต์ไว้ไม่ได้นำติดตัวไปด้วย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถือโอกาสหลบหนีโดยขับรถยนต์ดังกล่าวไป และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง เมื่อเข้าโค้งรถยนต์เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนชนเสาไฟฟ้าและเฉี่ยวชนรถยนต์ทั้งสองคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ซ่อมรถยนต์ที่รับประกันภัยเรียบร้อยแล้วและส่งมอบให้แก่ผู้เอาประกันภัย จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 โดยเหตุที่ว่า ความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 การที่จ่าสิบตำรวจวินัยดับเครื่องยนต์และลงไปจากรถโดยไม่ได้นำกุญแจรถยนต์ติดไปด้วย มิใช่ผลโดยตรง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในการกระทำตามหน้าที่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อ้างในฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ในความดูแลของจ่าสิบตำรวจวินัย จำเลยที่ 4 เป็นตัวการ เมื่อจ่าสิบตำรวจวินัย เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 เป็นการกระทำในขณะปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 4 ในฐานะหน่วยงานของรัฐและเป็นตัวการ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 5 ละเมิด หมวด 1 ความรับผิดเพื่อละเมิด มาตรา 420 ผู้ทำละเมิดจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ส่วนมาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ชั่วครั้งคราว จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน เห็นว่า บุคคลซึ่งรับดูแลต้องมีเจตนาที่จะรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ อาจเกิดจากหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ตามสัญญา ตามวิชาชีพ หรือตามพฤติการณ์ ส่วนบุคคลผู้ไร้ความสามารถหมายถึง ผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี ถือว่าเป็นผู้เยาว์ การที่จ่าสิบตำรวจวินัยขับรถยนต์ของทางราชการนำจำเลยที่ 1 กับพวกไปส่งสถานพินิจฯ เป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ แต่ไม่มีเจตนาที่จะรับดูแลจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 430 ส่วนจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดตามมาตรา 5 เป็นเรื่องหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จ่าสิบตำรวจวินัยลงจากรถ โดยดับเครื่องยนต์ แต่ไม่ได้นำกุญแจรถยนต์ติดตัวไปด้วย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลบหนี โดยขับรถยนต์ของทางราชการไปและก่อให้เกิดความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของจ่าสิบตำรวจวินัย การที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อขับรถไปก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง ผลแห่งละเมิดมิได้เกิดจากจ่าสิบตำรวจวินัยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับในผลแห่งละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share