คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเสร็จแล้วและจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ระหว่างนัดรอฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพ ขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยอ้างเหตุว่าจำเลยถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายฝ่ายขู่เข็ญหลอกลวงให้รับสารภาพ ให้คำมั่นว่าแม้จะรับสารภาพก็ไม่ต้องถูกจำคุกเพราะจะออกกฎหมายไม่เอาโทษภายหลัง จำเลยหลงเชื่อจึงให้การรับสารภาพ ต่อเมื่อจำเลยได้รับคำชี้แจงจากทนายความว่าไม่เป็นความจริง จึงขอต่อสู้คดีนั้น เมื่อปรากฏว่าขณะจำเลยให้การรับสารภาพนั้น จำเลยไม่มีทนาย และเหตุผลที่จำเลยอ้างกล่าวก็อาจเป็นไปได้ ทั้งในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่อยู่แล้ว รูปคดีสมควรให้จำเลยแก้คำให้การได้ตามคำร้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ กับมีอาวุธปืนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138,140, 289, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายนพ.ศ. 2514 ข้อ 2, 3 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501มาตรา 4, 5 กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2501) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 กับให้ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องจริงทุกประการ และไม่ต้องการทนายความ

เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเสร็จแล้วจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ระหว่างนัดรอฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิม ขอให้การปฏิเสธตลอดข้อหา โดยอ้างเหตุว่าจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ขู่เข็ญ หลอกลวงให้รับสารภาพ ให้คำมั่นว่าแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่ต้องถูกจำคุก เพราะจะออกกฎหมายไม่เอาโทษในภายหลัง จำเลยหลงเชื่อจึงให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องและพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2) เพียงบทเดียว ให้ประหารชีวิตจำเลยของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์ว่า การรับสารภาพของจำเลยเกิดจากการถูกบังคับขู่เข็ญหลอกลวง และพยานหลักฐานโจทก์ก็ไม่พอฟังลงโทษจำเลย ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การเดิมเป็นการไม่ชอบ ขอให้พิพากษากลับหรือลดโทษแก่จำเลย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องจำเลยชอบแล้วคดีฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา พิพากษาแก้โดยลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาว่ามีเหตุอันควรให้จำเลยแก้ไขคำให้การหรือไม่ว่า คดีได้ความว่า ในตอนแรกที่ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องจริง และไม่ต้องการทนายความ ครั้นระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิม ขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อหา โดยอ้างเหตุว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลขู่เข็ญหลอกลวงต่าง ๆ จำเลยหลงเชื่อจึงให้การรับสารภาพ

การขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การ มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 ว่า “เมื่อมีเหตุอันควรจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาตก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์” ในกรณีคดีนี้จำเลยอ้างเหตุผลในการขอแก้คำให้การว่า ที่จำเลยให้การรับสารภาพไปก่อนนั้น เพราะจำเลยถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายฝ่ายขู่เข็ญหลอกลวงโดยให้คำมั่นว่า แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่ต้องถูกจำคุก เพราะจะออกกฎหมายไม่เอาโทษภายหลัง จำเลยหลงเชื่อจึงให้การรับสารภาพ เหตุผลที่จำเลยอ้างดังกล่าวก็เป็นเหตุผลที่อาจเป็นไปได้ เพราะขณะจำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยไม่มีทนายความ ต่อเมื่อได้รับคำชี้แจงจากทนายความแล้ว จำเลยจึงเข้าใจเรื่องราวถูกต้อง นับว่าเป็นเหตุผลอันควร ประกอบกับในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่ จะให้การต่อสู้คดีอย่างไร หรือไม่ยอมให้การเลยก็ได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 วรรค 1ศาลฎีกาเห็นว่าตามรูปคดีสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การได้ตามคำร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ดังนั้นฎีกาข้ออื่นของจำเลยและฎีกาของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในชั้นนี้

พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การเดิม และยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาต่อไป และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share