แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่2ถึงที่4ตกลงกันเป็นหุ้นส่วนซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในกิจการท่องเที่ยวโดยจำเลยที่2มีหน้าที่ไปติดต่อขอซื้อเรือของกลางและเรือลำที่เกิดพลิกคว่ำจำเลยที่3มีหน้าที่เกี่ยวกับการติดต่อจดทะเบียนและขออนุญาตใช้เรือจำเลยที่4มีหน้าที่ในการออกแบบและต่อเติมเรือทั้งสองลำให้เป็นสองชั้นและได้จ้างจำเลยที่1ขับเรือของกลางซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือไปในการรับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา83 องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา233ที่ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะไม่ใช่ผลของการกระทำจำเลยใช้เรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อเรือนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นแม้ยังไม่มีความเสียหายก็ถือเป็นความผิดสำเร็จ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนที่สองเป็นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลลำน้ำ จากกรมเจ้าท่าให้เป็นผู้ทำการในหน้าที่ผู้ควบคุมเรือกลลำน้ำขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสส์ ตั้งแต่วันที่21 มีนาคม 2528 สิ้นอายุวันที่ 20 มีนาคม 2533 ครั้นต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2533 เวลากลางวัน อันเป็นวันเวลาที่ประกาศนียบัตรสิ้นอายุแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายท้ายเรือควบคุมเรือเอี้ยมจุ๊นที่ใช้สำหรับบรรทุกข้าวหรือทรายตัวเรือเป็นไม้มีขนาดยาว 12.60 เมตร กว้าง 3 เมตร ลึก 0.86 เมตรเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลขนาด 9.12 ตันกรอสส์ บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากแล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์อันเป็นการกระทำการในเรือในขณะที่ประกาศนียบัตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นสิ้นอายุแล้ว และจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันนำเรือลำดังกล่าวข้างต้นมาแล่นและใช้รับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร ขนส่งผู้โดยสารโดยเรือดังกล่าวเป็นเรือที่มิได้รับใบอนุญาตใช้เรือ ทั้งมิได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องรับใบอนุญาตใช้เรือ และเรือดังกล่าวมีลักษณะและมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น กล่าวคือเรือดังกล่าวได้มีการดัดแปลงหลายรายการ โดยเฉพาะส่วนของโครงหลักคาด้านบนชั้นที่สอง เสารองรับชั้นที่สองมีข้างละ 5 ต้นขนาดเสาเหล็กโต 2 นิ้ว กลวง พื้นดาดฟ้าชั้นสองทำด้วยเหล็กดัดธรรมดาตัวพื้นใช้เหล็กแผ่นเรียบหนาประมาณครึ่งหุน พื้นดาดฟ้ายึดติดกับเสาไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นเรือโดยสารเพราะอาจเกิดอันตรายพลิกคว่ำได้ง่ายตลอดเวลาที่ใช้ทั้งไม่ปลอดภัยหากบรรทุกผู้โดยสารรวมทั้งคนประจำเรือด้วยเกินกว่า 40 คน ซึ่งความแข็งแรงของเรือขนาดนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตใช้เรือรับจ้างโดยสารแก่บุคคลได้ แต่จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันใช้เรือนี้ รับจ้างขนส่งบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากถึง 50 คน แล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อการท่องเที่ยวชมอ่างเก็บน้ำดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282 และลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2481 มาตรา 4, 5, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 233, 91, 83 คืนของกลางแก่เจ้าของและนับโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต่อ
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282 ให้จำคุก 3 เดือนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและนำสืบพยานเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2481 มาตรา 9 วรรคแรก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 233, 83 เรียงกระทงลงโทษฐานใช้เรือที่มิได้รับอนุญาตใช้เรือ ให้ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร เมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น ให้จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 2 เดือน และปรับ 2,000 บาทจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางคืนเจ้าของ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1509/2533 ของศาลจังหวัดขอนแก่น ให้ยกเสีย เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษา
จำเลย ทั้ง สี่ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สี่ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อประมาณปี 2532 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ตกลงกันเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการท่องเที่ยวใช้ชื่อว่า รชตทัวร์ได้ซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นสำหรับบรรทุกข้าวหรือทราย 2 ลำ มาเพื่อกิจการดังกล่าว โดยจำเลยที่ 4 เป็นวิศวกรออกแบบและควบคุมการต่อเติมเรือทั้งสองลำเป็นเรือสองชั้น ติดเครื่องยนต์เพื่อรับผู้โดยสารไปชมทิวทัศน์ในบริเวณลำน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ทั้งนี้โดยยังไม่ได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตให้ใช้เรือ ตามวันเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้องอันเป็นเวลาภายหลังจากประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลลำน้ำของจำเลยที่ 1 สิ้นอายุแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่นายเรือควบคุมเรือที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลขนาด 9.12 ตันกรอสส์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซื้อมาและต่อเติมเพื่อกิจการท่องเที่ยวบรรทุกคนโดยสารซึ่งเป็นคณะนักศึกษาและอาจารย์จากวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคกลางจังหวัดชลบุรี วิทยาลัยการสาธารณสุขภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก และวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งหมดประมาณ 50 คน แล่นไปในลำน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อชมทิวทัศน์ ขณะเดียวกันนายสมพร กาสาวัง ได้ปฏิบัติหน้าที่นายเรือควบคุมเรืออีกลำหนึ่งที่ซื้อมาและต่อเติมเพื่อประกอบกิจการท่องเที่ยวบรรทุกคนโดยสารคณะเดียวกันอีกจำนวนหนึ่งแล่นไปในลำน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เช่นเดียวกัน เรือลำที่นายสมพรปฏิบัติหน้าที่นายเรือควบคุมไปได้พลิกคว่ำเป็นเหตุให้ผู้โดยสารคณะดังกล่าวถึงแก่ความตายรวม 39 คน วันที่ 24 กันยายน 2533 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ และยึดเรือพร้อมเครื่องยนต์ที่จำเลยทั้งสี่ใช้บรรทุกผู้โดยสารเป็นของกลาง
ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดฐานใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น โจทก์มีเรือโทสีหนาท มีจิตร เจ้าพนักงานตรวจเรือ และเรือเอกชัยรัตน์ ศรีตุลานนท์ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกการตรวจสภาพเรือ เอกสารหมาย ป.จ.2 ของศาลจังหวัดหนองคายว่า เรือของกลางเป็นเรือบรรทุกข้าวหรือทรายทำด้วยไม้ ยังมีสภาพดี ส่วนที่ดัดแปลงคือเสารองรับชั้นที่สองมีข้างละ 5 ต้น ขนาดเสาเหล็กโต 2 นิ้ว กลวง พื้นดาดฟ้าชั้นล่างทำด้วยเหล็ดดัดธรรมดา ตัวพื้นใช้เหล็กแผ่นเรียบหนาประมาณครึ่งหุน พื้นดาดฟ้ายึดติดกับเสาไม่แข็งแรงเท่าที่ควรพื้นชั้นที่สองยาว 9.30 เมตร กว้าง 2.42 เมตร สูงจากกราบเรือ1.98 เมตร โครงสร้างเรือเช่นนี้ หากบรรทุกคนโดยสารบนดาดฟ้ามาก จะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของเรือเลื่อนขึ้นไปด้านบนเรือพลิกคว่ำได้ง่าย เรือของกลางใช้วัสดุและฝีมือทางช่างไม่แข็งแรง หากนำไปขอจดทะเบียนใช้เป็นเรือโดยสารก็จะไม่ได้รับอนุญาต นายชาตรี มะณีย์และนายธวัชชัย โสมาบุตร ผู้โดยสารเรือของกลางเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุเรือของกลางบรรทุกคนโดยสารชั้นบนประมาณ30 คน ชั้นล่างประมาณ 20 คน เห็นว่า ตามบันทึกการตรวจสภาพเรือเอกสารหมาย ป.จ.2 ของศาลจังหวัดหนองคายและภาพถ่ายสภาพเรือหมาย ป.จ.3 ของศาลจังหวัดหนองคาย เรือของกลางเป็นเรือที่มิได้สร้างมาเพื่อรับน้ำหนักทางส่วนสูง การที่บรรทุกคนโดยสารบนชั้นที่สองจำนวนมากประมาณ 50 คน ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขต 2 เขื่อนอุบลรัตน์ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.18 ว่าจะนำเรือที่ได้จดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้เดินเรือได้ตามกฎหมาย ส่วนโครงสร้างของเรือแต่ละลำบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ครั้งละ 30 ถึง 40 คน การที่จำเลยทั้งสี่นำเรือที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้เรือมาใช้เจือสมกับคำเบิกความของเรือโทสีหนาทว่าโครงสร้างเรือของกลางหากบรรทุกคนโดยสารบนดาดฟ้ามากจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของเรือเลื่อนขึ้นไปด้านบนเรือพลิกคว่ำได้ง่าย เรือของกลางใช้วัสดุและฝีมือช่างไม่แข็งแรง หากนำไปขอจดทะเบียนใช้เป็นเรือโดยสารจะไม่ได้รับอนุญาต แสดงว่าลักษณะเรือของกลางและการบรรทุกคนโดยสารดังกล่าวมา เห็นได้ตามความรู้ของคนธรรมดาทั่วไปว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นแล้ว ที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าเรือของกลางไม่มีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ โดยมีจำเลยที่ 4 และนายอนุศักดิ์ จิตรประสบนายช่างออกแบบเรือ กองประมงทะเล กรมประมง เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อทำการต่อเติมเสร็จแล้วส่วนล่างของเรือของกลางมีน้ำหนักมากกว่าส่วนบน 5.83 เท่า เสาซึ่งค้ำยันระหว่างชั้นล่างกับชั้นที่สองมี10 ต้น สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 26.14 ตัน คานของพื้นชั้นที่สองมี 5 อัน สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่า 30 ตัน นั้น เห็นว่า พยานของจำเลยทั้งสี่ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เรือของกลางนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4เป็นผู้ทำการออกแบบและคำนวณโครงสร้างแต่ผู้เดียว จำเลยอื่นไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงกันเป็นหุ้นส่วนซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในกิจการท่องเที่ยว โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ไปติดต่อขอซื้อเรือของกลางและเรือลำที่เกิดพลิกคว่ำ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่เกี่ยวกับการติดต่อจดทะเบียนและขออนุญาตใช้เรือ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ในการออกแบบและต่อเติมเรือทั้งสองลำให้เป็นสองชั้น และได้จ้างจำเลยที่ 1 ขับเรือของกลางซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือไปในการรับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ฎีกาว่ายังไม่มีผลใด ๆ เกิดขึ้นอันจะถือว่าได้รับความเสียหาย ไม่มีใครเป็นผู้เสียหาย การกระทำจึงไม่มีผลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 นั้น เห็นว่าคำว่า “น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ” ตามมาตรา 233ไม่ใช่ผลของการกระทำ เพราะความผิดสำเร็จโดยที่ยังไม่มีความเสียหายเป็นแต่การกระทำหรือเจตนากระทำมีสภาพน่าจะเป็นอันตรายเท่านั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เรือของกลางรับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อเรือนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น แม้ยังไม่มีความเสียหายก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร เมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานทำการเดินเรือในขณะที่ประกาศนียบัตรสิ้นอายุแล้ว กฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดคือพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2525 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ภายหลังการกระทำความผิดได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 และตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก้ไขข้อความในมาตรา 282 โดยกำหนดโทษเป็นปรับไม่เกินสองพันบาท จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด ต้องใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานทำการเดินเรือ ในขณะที่ประกาศนียบัตรสิ้นอายุแล้ว จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ให้ปรับ 1,800 บาท เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ 1,200 บาทความผิดฐานใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งคนโดยสาร เมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 ให้ปรับจำเลยทั้งสี่คนละ 2,000 บาทอีกสถานหนึ่ง รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปีปรับ 5,200 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาทโทษจำคุกของจำเลยทั้งสี่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1