คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่ความจะร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และการอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยเลื่อนการสืบพยานจำเลยมาแล้ว 2 ครั้งครั้งแรกทนายจำเลยอ้างว่าจำเลยป่วย ครั้งที่สองทนายจำเลยอ้างว่า ไปงานเลี้ยงดึกและตอนเช้าท้องเสีย ไม่สามารถสืบพยานได้ ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยโดยกำชับทนายจำเลยไว้ทั้ง 2 ครั้ง ว่าให้เตรียมพยานมาให้พร้อม เมื่อถึงวันนัดครั้งที่สามผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยนำคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยมายื่นต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าทนายจำเลยไม่สามารถมาว่าความได้เพราะได้ว่าความในตอนเช้าและมีอาการปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูง แต่ทนายจำเลยไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่าอาการปวดศีรษะดังกล่าวเป็นความเจ็บป่วยจนถึงกับไม่สามารถมาศาลได้อันจะเป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และทนายจำเลยก็ไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลชั้นต้นว่าถ้าศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีล่าช้าโดยปราศจากเหตุอันสมควรจึงเป็นการประวิงคดี
การที่ศาลชั้นต้นจะตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของผู้ที่มาศาลไม่ได้ว่าผู้นั้นป่วยจริงหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 41 วรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับเด็ดขาดให้ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยเสมอไป ดังนี้เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยของผู้นั้นและศาลชั้นต้นพิจารณาถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ และเห็นว่าผู้นั้นยังสามารถมาศาลได้ เช่นนี้ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจว่าไม่สมควรมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือแพทย์ไปตรวจอาการเจ็บป่วยนั่นเอง คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

Share