คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กระทรวงกลาโหมจ้างเหมาให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันจะจ่ายเงินค่าจ้างให้เมื่อมีการรับมอบโรงงานแล้ว 1 ปี โดยให้ธนาคาร ก. เป็นผู้จ่ายค่าจ้างแทนเพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายเงินค่าจ้าง ธนาคาร ก.จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 หลายฉบับกำหนดวันใช้เงินตามตั๋วในวันหลังจากที่คาดคิดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จแล้วได้มอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้ธนาคารจำเลยที่ 2 ยึดไว้เพื่อมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อถึงกำหนดการใช้เงินดังนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวได้ระบุวันถึงกำหนดใช้เงินและคำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983(2)(3) แล้วข้อความที่บันทึกไว้ในตั๋วว่าเป็นการออกให้ตามสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นเพียงแสดงเหตุว่าตั๋วออกให้เพราะมีหนี้สินตามสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้นหาใช่เรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินมีเงื่อนไขไม่
จำเลยที่ 1 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งธนาคารจำเลยที่ 2 ยึดไว้ดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์ 1 ฉบับ แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ตั๋วสัญญาใช้เงินหมดกำหนดรับเงิน ธนาคาร ก.ได้เรียกตั๋วคืนไปแล้วได้ออกตั๋วฉบับใหม่ให้ธนาคารจำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทน แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกใหม่นี้จำเลยที่ 1 หาได้สลักหลังให้โจทก์ไม่ ฐานะของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเก่าได้หมดสิ้นไปแล้วเมื่อมีการยกเลิกตั๋วนั้นส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ก็ไม่ได้มีการสลักหลังโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือเงินตามตั๋วนั้นจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1เป็นผู้รับเงินในตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 47/2505 มูลค่า 125,000 เหรียญอเมริกัน ซึ่งธนาคารกรุงไทย จำกัด (ธนาคารเกษตร จำกัด เดิม) เป็นผู้ออกตั๋ว โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวโดยรับสลักหลังมาจากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับรักษาตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้ โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับธนาคารกรุงไทย จำกัด ว่าจะส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้มีสิทธิเมื่อได้มีการส่งมอบโรงกลั่นกรองน้ำมันขนาด 5,000 บาเรลต่อวัน ซึ่งทำการก่อสร้างที่ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ให้แก่กระทรวงกลาโหม เสร็จแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2508 ได้มีการส่งมอบโรงกลั่นน้ำมันดังกล่าวแก่กระทรวงกลาโหม โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบ โจทก์จึงแจ้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้ยกเลิกตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะผู้ออกตั๋วเงินไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกตั๋วเงินให้เป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่นได้ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้สลักหลังและจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องมอบตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ โจทก์ได้มอบให้ทนายความทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือโจทก์ไม่อาจเอาตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปขายลดได้และโจทก์ไม่อาจเอาตั๋วสัญญาใช้เงินไปขึ้นเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด อันจะถึงกำหนดในวันที่ 4 มิถุนายน 2511 ซึ่งโจทก์จะได้รับเงิน 125,000 เหรียญอเมริกัน คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเหรียญละ 20.80 บาทเป็นเงิน 2,600,000 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองให้ส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 47/2505 ซึ่งธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นผู้ออกตั๋วดังกล่าวให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 2,600,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนนี้จากวันที่ 4 มิถุนายน 2511 ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมบริษัทญี่ปุ่นชื่อฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด กับบริษัทฝรั่งเศสชื่อ ฟอเจ เอ อเตลีเอ เดอ กอมมังตรี อัวแชล ได้ร่วมกันทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงปรับพื้นที่บริเวณโรงงานที่จะติดตั้งเครื่องจักร สร้างเขื่อนทำถนน ฯลฯ งานทั้งหมดมีกำหนดเวลา ส่วนค่าจ้างจ่ายกันเป็นงวด ๆ ซึ่งกระทรวงกลาโหมให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (ธนาคารเกษตร จำกัด เดิม) ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 38 ฉบับ รวมเงิน 3,675,000 เหรียญสหรัฐ กำหนดวันใช้เงินต่างกัน ตั๋วสองฉบับสุดท้ายกำหนดใช้เงินวันที่ 1 กันยายน 2508 จ่ายเงิน 125,000 เหรียญสหรัฐ ฉบับหนึ่ง และ 100,000 เหรียญสหรัฐอีกฉบับหนึ่ง ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 38 ฉบับ มีข้อความว่าออกให้ตามสัญญาซึ่งได้เซ็นกับกระทรวงกลาโหม และจ่ายเงินจากบัญชีของกระทรวงกลาโหมตามสัญญา ระหว่างบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด กับกระทรวงกลาโหม และระหว่างบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด กับจำเลยที่ 1 จะไม่มีการจ่ายเงินค่าจ้างตามตั๋วจนกว่ากระทรวงกลาโหมจะได้ยอมรับมอบงานที่ได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนั้นนายอบ วสุรัตน์ เป็นทั้งผู้แทนบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด และกรรมการบริษัทโจทก์ เป็นผู้วิ่งเต้นงานรับเหมาดังกล่าวข้างต้นมา จำเลยที่ 1 จึงตอบแทนโดยการสลักหลังตั๋วฉบับจำนวนเงิน 125,000 เหรียญสหรัฐให้ แต่นายอบขอให้สลักหลังให้โจทก์ทั้งที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้สินเกี่ยวพันกันเลย แต่โดยเหตุที่นายอบเป็นผู้แทนมีอำนาจเต็มของบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด อยู่ในเวลานั้นจำเลยที่ 1 จึงยอมทำตาม งานส่วนของจำเลยที่ 1 ที่รับเหมาช่วงนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่งานติดเครื่องจักรของผู้รับเหมาเดิมทั้งสองบริษัทไม่แล้วเสร็จตามกำหนด กระทรวงกลาโหมจึงไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ ทำให้จำเลยที่ 1 พลอยไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามตั๋วไปด้วยและมีการออกตั๋วใหม่เลื่อนกำหนดการใช้เงินไป 20 กว่าเดือนโดยเหตุที่จำเลยที่ 1 กู้เงินจากธนาคารต่าง ๆ มาลงทุนในงานนี้ จึงทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 14-16 ล้านบาท จำเลยที่ 1 จึงร้องเรียนต่อทางราชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้ธนาคารแห่งเอเซียเพื่อการพาณิชย์กรรมและอุตสาหกรรมไกล่เกลี่ยหาทางตกลงกันระหว่างบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด กับจำเลยที่ 1 ครั้งแรกตกลงกันไม่ได้ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2506 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน จำเลยที่ 1 และนายอบในฐานะผู้แทนบริษัทฟูจิคาร์แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัดและกรรมการบริษัทโจทก์ทำความตกลงกันให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิในตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 38 ฉบับ รวมทั้งฉบับ ที่จำเลยที่ 1 สลักหลังโอนให้โจทก์กลับคืนเป็นของจำเลยที่ 1 ดังเดิมรวมเงินทั้งสิ้น 3,675,000 เหรียญสหรัฐ กำหนดชำระเงินกันเมื่อครบ 20 เดือนครึ่งต่อจากกำหนดเดิม ธนาคารกรุงไทย จำกัด ยอมมอบตั๋วให้จำเลยที่ 1 คิดเป็นเงิน 1,837,500 เหรียญสหรัฐ เพื่อให้นำไปขายเอาเงินหักส่วนลดไปใช้ได้ ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อเดือนมิถุนายน 2511 หลังจากที่เลื่อนกำหนดการใช้เงินไปอีกรวม 3 ครั้ง และในการตกลงกันครั้งนั้นนายอบในฐานะผู้แทนบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด และกรรมการบริษัทโจทก์ยังตกลงใช้ดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 343,170 เหรียญสหรัฐ ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับ 125,000 เหรียญสหรัฐ ที่ออกใหม่ครั้งหลัง ๆ ไม่มีการสลักหลังเพราะมีการตกลงกันแล้วดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 และตัดฟ้องว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่สลักหลังโอนให้โจทก์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีเงื่อนไขเพราะออกตามสัญญาที่จะไม่มีการจ่ายเงินจนกว่ากระทรวงกลาโหมจะรับรองผลงานและต้องจ่ายเงินจากบัญชีของกระทรวงกลาโหม ไม่ใช่จากบัญชีของผู้ออกตั๋ว จึงไม่สมบูรณ์ในฐานะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน และมิได้มีการโอนสิทธิเป็นการโอนสามัญในอันที่โจทก์จะมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้โดยการโอนสิทธิสามัญ โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ และไม่มีมูลหนี้อันใดที่โจทก์จะฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้โดยไม่อาศัยตั๋ว จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยที่ 1 ด้วย

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่เคยรักษาตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวในฐานะผู้รับฝากจากโจทก์ จึงไม่มีหน้าที่ส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ฟ้อง ซึ่งจะถึงกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 4 มิถุนายน 2511 ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เคยรับฝากตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งธนาคารกรุงไทย จำกัด (ธนาคารเกษตร จำกัด เดิม) ออกให้จำเลยที่ 1 หลายฉบับ รวมทั้งตั๋วฉบับที่ 47/2505 กำหนดใช้เงินวันที่ 1 กันยายน 2508ด้วย จำเลยที่ 2 เพียงแต่รับฝากตั๋วสัญญาใช้เงินเหล่านี้ไว้เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เพื่อโจทก์และมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้ฝากเท่านั้น จำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบโดยจำเลยที่ 1 ขอร้องว่าได้มีการสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่อ้างจริง แต่ไม่ได้มีการให้สัญญาหรือยืนยันให้คำรับรองใด ๆ ว่าจะส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งถึงกำหนดใช้เงินในวันที่ 1 กันยายน 2508 ให้แก่โจทก์ ทั้งระบุด้วยว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไว้ตามคำสั่งของธนาคารผู้ออกตั๋ว ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2506 ธนาคารผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินได้เรียกตั๋วสัญญาใช้เงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 คืนไปทั้งหมด จำเลยที่ 2 จึงคืนให้ไปรวมทั้งฉบับถึงกำหนดใช้เงินในวันที่ 1 กันยายน 2508 ด้วย และตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้ธนาคารผู้ออกตั๋วได้ยกเลิกไปแล้วโดยความรู้เห็นยินยอมของตัวแทนโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่มีตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้อยู่อีกต่อไป หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามตั๋วดังกล่าวจึงระงับไปด้วย ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่โจทก์ฟ้องก็ไม่ใช่ฉบับที่ถูกยกเลิกดังกล่าวข้างต้น ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ฟ้องยังไม่ถึงกำหนดใช้เงินไม่มีการสลักหลังให้โจทก์ทั้งไม่ได้มอบไว้แก่ จำเลยที่ 2 และโจทก์ก็ไม่เคยทวงถาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง สำหรับการส่งมอบโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหมนั้นถ้าหากมีการส่งมอบกันในวันที่ 18 พฤษภาคม 2508 จริง สัญญาฝากทรัพย์ก็สิ้นสุดลงตั้งแต่วันนั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นหกเดือนจึงขาดอายุความขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายแทนจำเลยที่ 2 ด้วย

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปากแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป จึงมีคำสั่งให้งดการสืบพยานและวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่อยู่ในฐานะผู้ทรง หรือฐานะที่จะเรียกตั๋วคืน เพราะตั๋วเงินฉบับที่สลักหลังกันนั้นถูกยกเลิกไปเสียก่อนที่จำเลยที่ 1 หรือโจทก์จะมีสิทธิเป็นผู้รับเงินและไม่มีการตกลงกันให้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับซึ่งออกมาแทนฉบับที่ถูกยกเลิกไป ทั้งไม่มีหนี้สินใด ๆ ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น ๆ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ 20,000.00 บาท แทนจำเลยทั้งสอง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสาร ล.1มีลักษณะไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน เพราะเป็นคำมั่นสัญญาใช้เงินที่มีเงื่อนไข โจทก์จึงอ้างมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้ไม่ได้ อย่างไรก็ดี แม้จะฟังว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบแล้วก็ตาม โจทก์ก็มิใช่เป็นผู้รับสลักหลังเพราะไม่มีการส่งมอบตั๋วเงินให้แก่กัน กรณีของโจทก์ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองตั๋วสัญญาใช้เงิน ล.1 ไว้แทนโจทก์ เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีทางชนะได้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นที่โจทก์อุทธรณ์มาอีก พิพากษายืน ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้แก้อุทธรณ์จึงไม่ให้ค่าทนาย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวน ฟังคำแถลงการณ์และประชุมปรึกษาแล้ว ตามทางพิจารณาโจทก์นำพยานเข้าสืบว่านายอบ วสุรัตน์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นผู้แทนของบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด ติดต่อทำสัญญากับกระทรวงกลาโหมเพื่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 5,000 บาเรล ต่อวัน ที่ตำบลบางจาก นายอบต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยออกเงินส่วนตัวและยืมไปจากโจทก์บ้าง ต่อมาบริษัทฟูจิคาร์ แมนิวแฟคเจอริ่ง จำกัด ดำเนินการไม่ได้เนื่องจากทางประเทศญี่ปุ่นไม่อนุมัติให้นำเงินออกนอกประเทศ จึงมอบให้บริษัทฝรั่งเศสกับบริษัทจำเลยที่ 1ดำเนินการก่อสร้างแทน ส่วนการจ่ายเงินนั้นตกลงว่าให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (ธนาคารเกษตร จำกัด เดิม) รับเงินจากกระทรวงกลาโหมมาจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างอีกต่อหนึ่ง สำหรับบริษัทจำเลยที่ 1 นั้นเสนอค่าก่อสร้างมาเป็นเงิน 3,500,000 เหรียญสหรัฐ แต่นายอบบอกให้เพิ่มค่าใช้จ่ายที่นายอบออกทดรองไปก่อนเข้าไปด้วย 450,000 เหรียญสหรัฐ เงินที่เพิ่มนี้ตกลงกันให้เป็นของนายอบ ดังนั้น ค่าก่อสร้างของจำเลยที่ 1 จึงรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,950,000 เหรียญสหรัฐ ค่าจ้างนี้จะจ่ายต่อเมื่อกระทรวงกลาโหมได้รับมอบโรงกลั่นแล้ว 1 ปี แต่จำเลยที่ 1 ต้องการเงินก่อน 300,000 เหรียญสหรัฐ นายอบจึงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารกรุงไทย จำกัด เอาเงินให้จำเลยที่ 1 ส่วนที่เหลืออีก 3,650,000 เหรียญสหรัฐ นั้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ 37 ฉบับ มอบให้ธนาคารอินโดจีนรักษาไว้ 2 ฉบับ ฉบับละ 100,000 เหรียญสหรัฐเงินจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเงิน 450,000 เหรียญสหรัฐ นอกนั้นมอบให้ธนาคารจำเลยที่ 2 เก็บรักษาไว้ในฐานะทรัสตี ตามเอกสารหมาย จ.4 ในปี พ.ศ. 2505 จำเลยที่ 1 ขอค่าแรงเพิ่มอีก 100,000 เหรียญสหรัฐ นายอบจึงแจ้งธนาคารกรุงไทย จำกัด ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 เป็น 2 ฉบับ จ่ายเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐฉบับหนึ่งและ 125,000 เหรียญสหรัฐอีกฉบับหนึ่ง สำหรับฉบับหลังนี้นายอบตกลงกับจำเลยที่ 1 ให้สลักหลังให้โจทก์และส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารจำเลยที่ 2 นายอบได้ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.8 แจ้งข้อตกลงระหว่างนายอบกับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้สลักหลังตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แล้วตามเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันไม่แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญา ตั๋วสัญญาใช้เงินก็ต้องยืดตามไปด้วยหลายครั้งรวมทั้งฉบับที่โจทก์ได้รับสลักหลังคือฉบับเอกสารหมาย ล.1 โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด มีหนังสือเอกสารหมาย จ.10 ถึงจำเลยที่ 2 ให้ส่งตั๋วเงินคืนไปเพื่อยืดเวลา นายอบไม่เคยตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่า ถ้ายกเลิกตั๋วฉบับที่สลักหลังแล้วให้ยกเลิกการสลักหลังด้วย แต่ฉบับหลัง ๆ ที่ออกมาแทนเอกสาร ล.1 นั้นไม่มีการสลักหลังเหมือนเอกสาร ล.1 นั้นเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะจัดการให้มีขึ้น นายอบเคยตกลงชดเชยดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 343,470 เหรียญสหรัฐ แต่เนื่องจากธนาคารกรุงไทย จำกัด ไม่ยอมออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ จึงตกลงกันเอาจากเงินจำนวนอื่น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 จึงได้ทวงถามเงินชดเชยค่าดอกเบี้ยดังกล่าวจากนายอบ

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายโดยตลอดแล้วปรากฏว่าคู่ความแถลงรับกันในวันชี้สองสถานว่า ธนาคารเกษตร ซึ่งขณะนี้เป็นธนาคารกรุงไทย ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เอกสาร ล.1 ซึ่งถึงกำหนดใช้เงินในวันที่ 1 กันยายน 2508 จำเลยที่ 1 ได้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้ตามข้อความด้านหลังของตั๋วแล้วเอาไปมอบให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ในฐานะทรัสตีโดยคำสั่งของผู้ออกตั๋วจำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือตามสำเนาท้ายฟ้องหมาย 2 ไปถึงโจทก์ แต่ธนาคารเกษตรไม่เคยมีคำสั่งให้มอบตั๋วแก่โจทก์เลย จำเลยที่ 2 จึงยึดถือไว้แทนธนาคารผู้ออกตั๋ว ส่วนเอกสารหมาย ล.2 ล.3 และ ล.4 เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเกษตรออกเหมือนกัน แต่วันถึงกำหนดใช้เงินต่างกัน คือ 18 พฤษภาคม 2510 18 ตุลาคม 2510 และ 4 มิถุนายน 2511 ตามลำดับ และตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสามฉบับนี้ไม่มีการสลักหลังแก่โจทก์ ครั้นสืบนายอบ วสุรัตน์ พยานโจทก์ได้เพียง 1 ปากแล้ว จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไปโดยไม่ต้องทำการสืบพยานโจทก์จำเลยอีกต่อไป และในระหว่างนัดฟังคำสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสอง โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 31 มีนาคม2512 ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นเป็นคุณแก่คดีของโจทก์ด้วย

มีข้อเท็จจริงรับกันต่อไปตามคำร้องคำแถลงคัดค้านของโจทก์ จำเลยและเอกสารต่าง ๆ ในคดีนี้อีกด้วยว่า การที่บริษัทฟูจิคาร์ ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันกับกระทรวงกลาโหม บริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับเหมาช่วงงานบางส่วนจากบริษัทฟูจิคาร์ ธนาคารเกษตรเป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างแทนกระทรวงกลาโหม นายอบในฐานะหรือในนามของบริษัทฟูจิคาร์ มีอำนาจสั่งให้ธนาคารเกษตรจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้าง นายอบได้สั่งจ่ายเงินค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 โดยขอให้ธนาคารเกษตรออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 ไว้หลายฉบับ ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 47/2505 เงิน 125,000.00 เหรียญ เป็นฉบับหนึ่งที่ธนาคารเกษตรออกให้จำเลยที่ 1 ตั๋วสัญญาใช้เงินทุกฉบับที่ธนาคารเกษตรเป็นผู้ออกนี้ มีข้อตกลงระหว่างนายอบกับจำเลยที่ 1 ว่า ให้ส่งไปให้ธนาคารเอเซียกับธนาคารอินโดจีนเก็บรักษาไว้ในฐานะทรัสตีแบงค์ จำเลยที่ 1 จะรับตั๋วสัญญาใช้เงินไปได้ต่อเมื่อกระทรวงกลาโหมได้รับมอบโรงกลั่นน้ำมันจากผู้รับจ้างแล้ว และต่อจากการรับมอบโรงกลั่นน้ำมันแล้ว 1 ปี ผู้มีสิทธิในตั๋วจึงจะรับเงินตามตั๋วได้ นายอบได้ขอให้จำเลยที่ 1 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับหนึ่ง คือฉบับเลขที่ 47/2505 เงิน 125,000.00 เหรียญนี้ ซึ่งถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 1 กันยายน 2508 ตามเอกสาร ล.1 ให้แก่โจทก์ และนายอบได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ตามเอกสาร จ.8 ขอให้จำเลยที่ 2 ยืนยันไปในทันทีที่จำเลยที่ 1 ได้สลักหลังตั๋วแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2505 และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือยืนยันตามเอกสาร จ.9 ไปให้โจทก์ทราบ แต่การก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันส่วนที่บริษัทฝรั่งเศสเป็นผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องจักรยังไม่เสร็จ ส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมไม่ได้ ตามกำหนดเวลาในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเกษตรออกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานรับจ้างเสร็จเรียบร้อยภายในกำหนดสัญญาพลอยรับเงินไม่ได้ไปด้วยกระทรวงกลาโหมได้ต่อสัญญารับเหมาก่อสร้างออกไป ตั๋วสัญญาใช้เงินทุกฉบับที่ธนาคารเกษตรออกให้จำเลยที่ 1 ต้องยืดกำหนดการใช้เงินไปด้วย ธนาคารเกษตรจึงได้มีหนังสือถึงธนาคารเอเซีย ขอให้ส่งตั๋วสัญญาใช้เงินทุกฉบับคืนไปเพื่อยืดกำหนดเวลาการใช้เงิน เมื่อธนาคารเกษตรได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ให้แล้ว ก็ส่งตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกใหม่เปลี่ยนแต่วันถึงกำหนดใช้เงินในตั๋วกลับคืนมาให้ธนาคารเอเซียเป็นผู้เก็บรักษาไว้อย่างเดิม เฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงิน ล.1 ได้มีการยืดเวลา โดยธนาคารเกษตรมีหนังสือถึงธนาคารเอเซีย ขอให้ส่งตั๋วฉบับที่โจทก์เป็นผู้รับสลักหลังนี้คืน แล้วเปลี่ยนตั๋วใหม่ แล้วเรียกตั๋วคืนเพื่อยืดกำหนดเวลาใช้เงินอีก ได้ทำเช่นนี้ต่อมาถึง 3 ครั้ง ตามเอกสาร ล.2, 3 และ 4 แต่ในตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับหลังนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงนามสลักหลังตั๋วให้แก่โจทก์เหมือนเอกสาร ล.1 ซึ่งเป็นฉบับแรก

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินมีคำมั่นสัญญาที่มีเงื่อนไขหรือไม่ได้พิเคราะห์ข้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความในสำนวนแล้ว เห็นว่าเนื่องจากได้มีการตกลงกันระหว่างกระทรวงกลาโหมกับผู้รับทำการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันว่า กระทรวงกลาโหมจะจ่ายเงินค่าก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันในเมื่อรับมอบโรงกลั่นน้ำมันแล้ว 1 ปี โดยให้ธนาคารเกษตร จำกัด (ปัจจุบันธนาคารกรุงไทย จำกัด) รับหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างแทน และเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้รับทำการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับเงินค่าก่อสร้างตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ธนาคารเกษตรจึงได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายหลายฉบับ รวมทั้งฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องโดยกำหนดวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วในวันหลังจากที่คาดคิดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ระบุผู้ที่มีสิทธิจะได้รับเงินไว้คือจำเลยที่ 1 แล้วมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยึดถือไว้ เพื่อมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อถึงวันกำหนดการใช้เงิน ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งได้ระบุวันถึงกำหนดใช้เงินและคำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983(2)(3) แล้ว ข้อความที่มีบันทึกไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินว่า “ลงนามออกให้ตามสัญญาเลขที่ บีที 1/2501 ลงวันที่ 11 เมษายน 2501 กับสัญญาแก้ไข ฯลฯ นั้นเป็นเพียงการแสดงเหตุว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ออกให้เพราะมีหนี้สินอยู่ตามสัญญาที่ระบุไว้ หาใช่เรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินมีเงื่อนไขไม่

ปัญหาข้อต่อไปมีว่า โจทก์จะฟ้องเรียกให้ส่งตั๋วสัญญาใช้เงินหรือส่งเงิน 125,000 เหรียญอเมริกันแก่โจทก์ได้หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งแรกเริ่มมีการออกตั๋วหมาย ล.1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้สลักหลังให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงในฐานะผู้รับสลักหลัง แต่ตั๋วนี้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 2 ในฐานะธนาคารทรัสตี จำเลยที่ 2 จะส่งมอบให้ต่อเมื่อมีการส่งมอบโรงกลั่นน้ำมันให้แก่กระทรวงกลาโหมเสร็จแล้ว โดยเหตุที่ยังส่งมอบโรงกลั่นไม่ได้ ต้องยึดกำหนดออกไป ตั๋วสัญญาใช้เงินเก่าซึ่งจะหมดกำหนดรับเงินก็ต้องส่งคืนไป แล้วออกตั๋วฉบับใหม่มาแทนได้ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง ได้แก่ตั๋วหมาย ล.2, 3 และ 4 แต่ตั๋ว 3 ฉบับหลังนี้ไม่มีการสลักหลักให้แก่โจทก์ ดังนี้ ฐานะของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินหมาย ล.1 ได้หมดสิ้นไปเสียแล้ว เมื่อมีการยกเลิกตั๋วนั้น ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ที่มอบไว้แก่จำเลยที่ 2 หาได้มีการสลักหลังให้แก่โจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนี้คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ต่อไป

พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share