แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างดำเนินงานเกี่ยวกับการชำระบัญชีจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาจ้าง โจทก์กำหนดอัตราค่าจ้างไว้จริง ไม่ได้ยกข้อต่อสู้อื่นอีกแต่ประการใด เช่นนี้ ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างนี้ได้เลยโดยไม่ต้องสืบพยานหรือวินิจฉัยประการใดอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างในการดำเนินคดีในศาลและงานเกี่ยวกับการชำระบัญชีที่กองหมายตามสัญญาจ้างลงวันที่ 18 ตุลาคม 2495 เป็น4 จำนวน คือ(1) ค่าจ้างดำเนินคดีตามสัญญา ข้อ 1 เงิน 10,000 บาท (2) ค่าจ้างดำเนินงานการชำระบัญชีกองหมาย ตามสัญญา ข้อ 2 (ก) 10,000 บาท (3) ค่าจ้างในการโต้แย้งเอาสิทธิในประทานบัตร 16 แปลงให้หลุดพ้นจากการชำระบัญชีของกองหมาย 200,000 บาท (4) ค่าจ้างดำเนินคดีตามสัญญาข้อ 2 (ค) 10,000 บาท
จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาลงวันที่ 18 ตุลาคม 2495 จริงและรับรองเรื่องค่าจ้างตามสัญญาข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 2 (ค)คงโต้แย้งเรื่องค่าจ้างตามสัญญาข้อ 2 (ข) ประการเดียวว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 180,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะค่าจ้างตามสัญญาข้อ 2(ก) และ (ข) เท่านั้น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ค่าจ้างตามสัญญาข้อ 2(ก) นั้น จำเลยรับว่าได้จ้างโจทก์จริง และมิได้ยกข้อต่อสู้ไว้เลย ประกอบกับการที่จำเลยไปทำสัญญาประนีประนอมกับหุ้นส่วนอื่นเสีย จึงทำให้ไม่ต้องชำระบัญชีต่อไป ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์จึงควรได้รับค่าจ้างตามสัญญา ส่วนค่าจ้างตามสัญญาข้อ 2 (ข) เห็นพ้องตามศาลชั้นต้น จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เฉพาะฎีกาเรื่องค่าจ้าง 10,000 บาท ตามสัญญาข้อ 2 (ก) นั้น จำเลยให้การรับรองสัญญาแล้ว และมิได้ยกข้อต่อสู้ประการใดเลย ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ได้โดยไม่ต้องสืบพยานหรือวินิจฉัยประการใดอีกศาลชั้นต้นไม่ควรวินิจฉัยในความข้อนี้ ในชั้นฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้อีกส่วนฎีกาเรื่องค่าจ้างตามสัญญาข้อ 2 (ข) นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดที่จะทำให้เป็นผลสำเร็จตามที่จ้างไว้ แม้การปฏิบัติงานในหน้าที่ของโจทก์จะยังไม่บรรลุผลสำเร็จเรียบร้อย หากจำเลยเข้าช่วยจึงสำเร็จก็ดี โจทก์ก็ยังควรได้รับค่าจ้างบ้างตามสมควรแก่ผลงานที่ได้ปฏิบัติมา และที่ศาลกำหนดค่าจ้างให้โจทก์ 150,000 บาท นั้น นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน