คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12430/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความตามข้อตกลงข้อ 2 เป็นเรื่องนาง ก. ผู้รับสัญญาตกลงกับโจทก์ว่าหากผู้รับสัญญาได้จำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้อื่น ผู้รับสัญญาจะต้องชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ซึ่งหมายถึงเป็นการจำหน่ายหรือขายในขณะที่นาง ก. ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะหนี้การชำระเงินดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ไม่อาจตีความข้อตกลงดังกล่าวว่า การที่นาง ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้บุคคลอื่นเป็นการจำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทด้วย เหตุนี้ ข้อความต่อมาตามข้อตกลงที่ระบุให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามจะต้องเป็นผู้ชำระเงินแทนนาง ก. เต็มตามจำนวนเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงเป็นข้อตกลงแยกต่างหากจากข้อแรก ซึ่งมีความหมายว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามต้องรับผิดชำระหนี้ 3,000,0000 บาท แก่โจทก์แทนนาง ก. ด้วยอันเป็นข้อตกลงที่จะมีผลบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่สัญญาให้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้ง ๆ ที่บุคคลภายนอกมิได้ตกลงด้วยนั้นย่อมกระทำมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 , ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยพินัยกรรมร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมชำระหนี้จำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาทดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้คือที่ดินโฉนดเลขที่ 12781 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นของนางกิมหลั่น ต่อมานางกิมหลั่นได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในปี 2544 และในปี 2545 โจทก์ยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่นางกิมหลั่นโดยโจทก์และนางกิมหลั่นได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2547 นางกิมหลั่นถึงแก่ความตายโดยได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของนางกิมหลั่น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงหรือไม่ ได้ความตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางกิมหลั่น ว่าโจทก์มีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางกิมหลั่น โดยไม่มีค่าตอบแทน และข้อ 2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนั้นหากผู้รับสัญญา (นางกิมหลั่น) ได้จำหน่ายหรือขายไปให้แก่ผู้อื่นใดก็ตาม ผู้รับสัญญาจะต้องชำระเงิน 3,000,000 บาท ให้แก่ผู้ให้สัญญา (โจทก์) ในทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ซึ่งให้รวมตลอดไปถึงกรณีที่ผู้รับโอนสิทธินั้นไม่ว่าจะอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรม หรือในทางพินัยกรรมตามกฎหมาย หรือผู้อื่น ๆ ใดทั้งสิ้นก็ตามจะต้องเป็นผู้ชำระแทนจนเต็มตามจำนวนเงินข้างต้น ดังนี้ เห็นว่า ข้อความตามข้อตกลงข้อ 2. ดังกล่าวเป็นเรื่องผู้รับสัญญา (นางกิมหลั่น) ตกลงกับโจทก์ว่าหากผู้รับสัญญาได้จำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปให้แก่ผู้อื่น ผู้รับสัญญาจะต้องชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ซึ่งหมายถึงเป็นการจำหน่ายหรือขายในขณะที่ผู้รับสัญญายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะหนี้การชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท เกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน กรณีย่อมไม่อาจตีความข้อตกลงดังกล่าวว่า การที่นางกิมหลั่นทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่บุคคลอื่นเป็นการจำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทด้วย เพราะการทำพินัยกรรมไม่ต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการจำหน่ายหรือขายเท่านั้น จึงไม่อาจขยายความรวมถึงการทำพินัยกรรมได้ ด้วยเหตุนี้ข้อความตามข้อตกลงต่อมาที่ระบุให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามจะต้องเป็นผู้ชำระเงินแทนผู้รับสัญญาเต็มตามจำนวนเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงเป็นข้อตกลงพิเศษแยกต่างหากจากข้อแรก ซึ่งมีความหมายว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามต้องรับผิดชำระหนี้ 3,000,0000 บาท แก่โจทก์แทนผู้รับสัญญาด้วย อันเป็นข้อตกลงที่จะมีผลบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่สัญญาให้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้ง ๆ ที่บุคคลภายนอกมิได้ตกลงด้วยนั้นย่อมกระทำมิได้หรืออีกนัยหนึ่งคู่สัญญาจะตกลงกันเพื่อให้มีผลบังคับบุคคลภายนอกให้ชำระหนี้แก่คู่สัญญาไม่ได้ การที่นางกิมหลั่นทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำผิดข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวข้อ 2. แต่อย่างใด และเมื่อข้อตกลงพิเศษที่มีผลบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกไม่อาจบังคับได้ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่อาจอาศัยข้อตกลงในข้อ 2. ดังกล่าวมาฟ้องเรียกร้องเงินจำนวน 3,000,000 บาท จากจำเลยทั้งสามได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share