คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นเป็นการมิชอบ ดังนั้นประเด็นเรื่องจำเลยได้กระทำตามฟ้องหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยจะกลับมาฎีกาอีกไม่ได้ การนับโทษจำคุกจำเลยต่อกับโทษในคดีอื่นเป็นดุลพินิจ ของศาลแม้ว่าศาลจะพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปีแล้วก็ตามหากศาลเห็นสมควรก็จะสั่งให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นอีกได้ไม่ขัดต่อ ป.อ. มาตรา 91.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289,339, 340 ตรี, 371, 81 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ข้อ 2, 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 32, 32 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ข้อ3, 6, 7 ให้คืนมาตรวัดความเร็ว และมาตรวัดรอบแก่เจ้าของ ของกลางนอกนั้นขอให้ริบ และขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่3129/2526 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2729/2526 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยไม่ได้ให้การ แต่เบิกความปฏิเสธความผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 339 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 371, 91 ซึ่งแก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 ให้เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) กับชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 339, 340 ตรี เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนักให้ประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองลงโทษจำคุก1 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 52(1) ให้จำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปีรวมเป็นโทษจำคุก 51 ปี แต่คงให้จำคุกเพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ให้คืนมาตรวัดความเร็ว มาตรวัดรอบแก่เจ้าของ ของกลางนอกนั้นให้ริบให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2789/2526 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3139/2526 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์ขอไม่ให้นับโทษต่อ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด กลับอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นเป็นการมิชอบ ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยจะกลับมาฎีกาในปัญหานี้อีกไม่ได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 4 ว่า ควรนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอื่นหรือไม่ พิเคราะห์แล้วการที่จะนับโทษจำคุกจำเลยต่อกับโทษในคดีอื่นหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลแม้ว่าในคดีนี้ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปีก็ตามหากศาลเห็นสมควรก็อาจสั่งให้โทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นอีกได้ ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งได้แก้ไขแล้ว สำหรับคดีนี้ที่ศาลล่างทั้งสองให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอื่นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289ให้ประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองให้จำคุก 1 ปี และฐานพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะ ให้จำคุก6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำคุกตลอดชีวิต และจำคุก 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 51 ปีแต่คงให้จำคุกเพียง 50 ปีนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะในกรณีซึ่งความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไปดังคดีนี้ แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) จะได้กำหนดไว้ว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี แต่ก็มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลฎีกาก็ไม่อาจแก้ไขให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้”
พิพากษายืน.

Share