คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การนัดหยุดงานที่กระทำโดยสหภาพแรงงานซึ่งแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ถือว่าเป็นการกระทำแทนลูกจ้างทุกคนที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานดังกล่าว และเมื่อได้มีการแจ้งนัดหยุดงานโดยชอบแล้วสมาชิกของสหภาพแรงงานนั้นทุกคนก็มีสิทธิที่จะนัดหยุดงานได้ ซึ่งสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ลูกจ้างบางคนจะได้ทำหนังสือว่ามีความประสงค์จะเข้าทำงานตามปกติก็หาทำให้สิทธิที่จะหยุดงานที่มีอยู่ตามกฎหมายระงับไปไม่ การที่ลูกจ้างดังกล่าวไม่มาทำงานในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลานัดหยุดงานโดยชอบจะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2534 สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ แต่ตกลงกันไม่ได้ สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยจึงใช้สิทธิหยุดงานตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534 ครั้นวันที่ 23 กรกฎาคม2534 สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยขอยกเลิกการนัดหยุดงานวันที่26 กรกฎาคม 2534 โจทก์ได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะกับผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม2534 ผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 4 และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534ผู้กล่าวหาที่ 5 ถึงที่ 7 ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กล่าวหาโจทก์ว่าเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสิบเอ็ดได้มีคำสั่งที่ 46/2534 ให้ยกคำร้องเฉพาะของผู้กล่าวหาที่ 3 และที่ 4ส่วนผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้โจทก์รับกลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหาย โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5ที่ 6 และที่ 7 ทั้งนี้เพราะผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ได้ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จึงเลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ได้ คำสั่งของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2534 เฉพาะที่เกี่ยวกับผู้กล่าวหาที่ 1ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า การที่ผู้กล่าวหาหยุดงาน ไม่ใช่ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2534 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างของโจทก์ตั้งสหภาพแรงงานชื่อสหภาพแรงงานบางกอกกระสวยผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2534 สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ เมื่อสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ต่อมาเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้วในวันที่ 12 มิถุนายน 2534 ผู้กล่าวหาที่ 1และที่ 2 ได้ทำหนังสือให้แก่โจทก์ว่า ได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้วจึงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไปและมีความประสงค์จะเข้าทำงานปกติ ตามเอกสารหมาย จ.1 สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยได้ใช้สิทธินัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปต่อมาในวันที่ 18 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2534 ผู้กล่าวหาที่ 1และที่ 2 ไม่ทำงาน โจทก์ถือว่า ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จึงเลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ตามประกาศเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.3 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างข้อพิพาทแรงงานยังตกลงกันไม่ได้ สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยขอยกเลิกการนัดหยุดงาน ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2534 ผู้กล่าวหาที่ 5ที่ 6 และที่ 7 ได้ทำหนังสือให้แก่โจทก์เช่นเดียวกับที่ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ทำให้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1 และในวันเดียวกันดังกล่าวโจทก์ได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย ล.2 โดยเริ่มปิดงานตั้งแต่วันที่26 กรกฎาคม 2534 เวลา 12 นาฬิกา เป็นต้นไป ผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ไม่ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2534 ถึงวันที่ 1สิงหาคม 2534 โจทก์ถือว่าผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรโจทก์จึงเลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ตามประกาศเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.4
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้ทำหนังสือให้แก่โจทก์ว่าได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไป และมีความประสงค์จะเข้าทำงานตามปกติ ตามเอกสารหมาย จ.1 เช่นนี้ผู้กล่าวหาทั้งห้าจะยังคงมีสิทธิที่จะเข้าร่วมหยุดงานกับสหภาพแรงงานอีกต่อไปหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการนัดหยุดงานรายนี้กระทำโดยสหภาพแรงงานบางกอกกระสวย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำแทนลูกจ้างทุกคนที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานบางกอกกระสวย และเมื่อได้มีการแจ้งนัดหยุดงานโดยชอบแล้วสมาชิกของสหภาพแรงงานทุกคนก็มีสิทธิที่จะหยุดงานได้ ซึ่งสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้กล่าวหาทั้งห้าจะได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ว่ามีความประสงค์จะเข้าทำงานตามปกติ ก็หาทำให้สิทธิที่จะหยุดงานที่มีอยู่ตามกฎหมายระงับไปไม่ ฉะนั้นการที่ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ไม่มาทำงานในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลานัดหยุดงานโดยชอบจะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้ ส่วนผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มาทำงานเพราะโจทก์ปิดงาน ซึ่งก็มิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นกันที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share