คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้นำรถยนต์ของจำเลยไปทำการชักลากบรรทุกไม้ของโจทก์จำเลยได้รับเครื่องอะไหล่รถยนต์และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ จากโจทก์ และจากบุคคลอื่นซึ่งโจทก์รับชำระราคาแทน และยังได้รับเงินสดจากโจทก์อีกด้วย โดยตกลงให้คิดหักกับสินจ้างที่จำเลยจะได้รับระหว่างอายุสัญญา มีฝนตกชุกจนจำเลยไม่สามารถนำรถยนต์ออกทำการชักลากไม้ได้ตามปกติ จำเลยจึงนำรถยนต์เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมก่อนโจทก์ได้ไปแจ้งความกล่าวหาว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์แล้วพนักงานสอบสวนควบคุมตัวจำเลยและกักรถยนต์ของจำเลยไว้ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยึดรถยนต์ของจำเลยไว้ก่อนมีคำพิพากษาโดยไม่ได้ความว่าโจทก์กลั่นแกล้งจำเลย การที่โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น กรณีมีเค้ามูลและเหตุผลที่จะทำให้โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยทำผิดตามข้อความที่ไปแจ้งความไว้ เพราะเป็นกรณีอยู่ในระหว่างที่จำเลยปฏิบัติตามสัญญายังไม่แล้วเสร็จ ก็นำรถยนต์และสิ่งของไปเสีย ดังนี้ จะถือว่าโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยหาได้ไม่ การที่พนักงานสอบสวนปฏิบัติการควบคุมตัวจำเลยและกักรถยนต์ของจำเลยไว้ ก็เป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำการยึดรถยนต์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษานั้น ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิทางศาล โดยมีเหตุผลในการขอให้คุ้มครองสิทธิของโจทก์ จำเลยมิได้พิสูจน์ให้ปรากฏว่าศาลได้สั่งการเช่นนั้นโดยศาลมีความเห็นหลงไปโดยความผิดหรือเลินเล่อของโจทก์.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263 โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้นำรถยนต์ของจำเลยไปทำการชักลากบรรทุกไม้ของโจทก์ โดยคิดค่าจ้างให้ตามจำนวนไม้ที่ชักลากบรรทุกได้ ในวันทำสัญญา โจทก์ตกลงจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าอะไหล่ 110,000 บาท กับเงินสดอีก 40,000 บาท จำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะนำรถยนต์ไปถึงโรงเลื่อยของโจทก์อย่างช้าวันที่ 15 มกราคม 2508 และจะทำการชักลากไม้ตลอดฤดูการชักลาก คือ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2508 ตั้งแต่ทำสัญญาแล้วจำเลยทั้งสองได้รับเครื่องอะไหล่และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ กับเงินสดรวมเป็นเงิน 374,398.46 บาท จำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะชักลากบรรทุกไม้เพื่อให้ได้ค่าจ้างมาคิดหักกับราคาสิ่งของและเงินสดที่ได้รับไป ต่อมาจำเลยได้ชักลากไม้ให้โจทก์คิดเป็นสินจ้าง 129,684.90 บาท และจำเลยได้คืนสิ่งของที่เอาไปคิดเป็นเงิน 16,089.25 บาท แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ยอมทำงานให้โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา และให้จำเลยทั้งสองคืนราคาสิ่งของและเงินสดที่รับไปในส่วนที่เกินค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงิน 228,624.31 บาท จำเลยบ่ายเบี่ยง ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยได้นำรถยนต์ไปทำงานตามสัญญา หากโจทก์ไม่ผิดสัญญาแล้ว จำเลยจะมีรายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเดือนละ180,000 บาท โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยเสียหาย 2 เดือน เป็นเงิน360,000 บาท แต่จำเลยทำงานได้เงิน 129,684 บาท จึงยังคงเสียหายอยู่อีก 230,315.10 บาท และเมื่อเดือนเมษายน 2508 ฝนตกหนักจำเลยทำงานไม่ได้ ได้แจ้งให้โจทก์จัดการทำทางและสะพานข้ามห้วยและจะขอกลับภูมิลำเนาเดิมชั่วคราว จะกลับมาทำใหม่ภายในต้นปี 2509 ถ้าไม่มาก็ขอให้เป็นไปตามสัญญา คือ จำเลยจะต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์ภายในเดือนมีนาคม 2509 โจทก์ยอมตกลง แต่กลับไปแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับพวกยักยอกนำของหลบหนี พนักงานสอบสวนจึงกักตัวจำเลยและรถยนต์ไว้รวม 9 วัน ทำให้จำเลยเสียหายคิดเป็นเงิน 54,000 บาท และโจทก์ได้ยื่นคำร้องเท็จ ทำให้ศาลหลงเชื่อยึดรถยนต์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ทำให้จำเลยขาดประโยชน์เดือนละ 180,000 บาท กับต้องเสียค่าพาหนะเพราะใช้รถไม่ได้ เดือนละ 1,000 บาท รวมความเสียหาย 284,315.10 บาท จำเลยรับมัดจำมาแล้ว 150,000 บาท เมื่อหักกันแล้ว โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย 134,315.10 บาท กับค่าเสียหายรายเดือน ๆ ละ 181,000 บาท จึงฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวนนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา เดือนเมษายน2508 ไม่มีฝนตกหนัก จำเลยไม่เคยแจ้งว่าจะขอกลับภูมิลำเนาชั่วคราวแต่ได้ลอบนำรถยนต์หลบหนีไป จนโจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาและแจ้งต่อพนักงานสอบสวน โจทก์ไม่ได้กลั่นแกล้งจำเลย ค่าเสียหาย 54,000 บาทเป็นการกล่าวลอย ๆ เคลือบคลุม การที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งยึดรถยนต์ชั่วคราวก่อนพิพากษา เป็นการใช้สิทธิโดยชอบ ฟ้องแย้งเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2508 มีฝนตกหนักจริงทางและสะพานข้ามห้วยใช้มานานแล้วย่อมชำรุดทรุดโทรม จำเลยไม่สามารถทำงานได้ จึงได้นำรถกลับ และสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยก็ระบุว่า ในระหว่างเวลาการทำงานตามสัญญา โจทก์จะต้องยอมให้จำเลยนำรถยนต์กลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดสุพรรณบุรีได้ ในกรณีที่มีฝนตกหนัก และมีข้อสัญญาต่อกันด้วยว่า เมื่อจำเลยนำรถยนต์กลับไป หากมีหนี้สินค้างอยู่ โจทก์จะต้องไปคิดหักหนี้สินกันในปี พ.ศ. 2509 แต่ถ้าจำเลยไม่ไปทำงานในปี พ.ศ. 2509 โจทก์จึงจะมีสิทธิเรียกเงินมัดจำคืน แต่ต้องยอมให้จำเลยคืนได้ภายในเดือนมีนาคม 2509 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำรถยนต์กลับไปได้โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์หามีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้และคืนเงินแก่โจทก์ก่อน หรือเลิกสัญญาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลล่างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงการผิดสัญญาข้ออื่น และความเสียหายของโจทก์

ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ผิดสัญญานั้น จำเลยไม่ได้อ้างเหตุอื่นนอกจากความจำเป็นในเรื่องฝนตกหนักทำงานไม่ได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่ได้ตกลงกับโจทก์ว่าจะกลับไปทำงานในปีพ.ศ. 2509 อีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องโจทก์ผิดสัญญา และขณะที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น จำเลยยังมีหน้าที่จะต้องนำรถยนต์ไปทำงานในปี พ.ศ. 2509 ตามสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิจะเลิกสัญญาและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย

ข้อที่จำเลยฎีกาว่าได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยยักยอกถูกควบคุมตัวและกักรถยนต์ของจำเลยไว้ กับความเสียหายที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ไว้ก่อนพิพากษานั้น ศาลฎีกา เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์กลั่นแกล้งจำเลย การที่โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น กรณีมีเค้ามูลและเหตุผลที่ทำให้โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยทำผิดตามข้อความที่แจ้งเพราะระหว่างที่จำเลยปฏิบัติตามสัญญายังไม่แล้วเสร็จ ก็นำรถยนต์และสิ่งของไปเสียจะถือว่าโจทก์ทำละเมิดหาได้ไม่ การที่พนักงานสอบสวนปฏิบัติการควบคุมตัวจำเลยและกักรถยนต์ของจำเลยไว้ ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ และการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ยึดรถยนต์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิทางศาล โดยมีเหตุผลที่จะขอให้คุ้มครองสิทธิของโจทก์ จำเลยไม่ได้พิสูจน์ว่าศาลสั่งไปโดยมีความเห็นหลงไปโดยความผิดหรือเลินเล่อของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263 ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share