แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ทำสัญญาจะขายทรัพย์สินไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ในขณะทำสัญญานั้นก็ได้ ถ้าหากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิไปโดยชำระราคาตามที่ตกลงกันได้สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้ว
มีข้อตกลงว่าให้ผู้ขายเก็บผลส้มอันเป็นดอกผลธรรมดาจากที่ดินของผู้ขายซึ่งผู้จะซื้อได้ปลูกต้นส้มขึ้นเป็นการชำระราคาบางส่วนและต่อมาปรากฏว่าผู้ขายได้เก็บผลส้มไปตามข้อตกลงนั้นแล้ว ก็ถือได้ว่าผู้ซื้อได้ชำระหนี้บางส่วนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกไปที่ดินซึ่งโจทก์ให้จำเลยอาศัยอยู่
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ให้จำเลยครอบครองที่ดินรายพิพาทโดยให้คำมั่นว่าจะขายให้จำเลยเป็นราคาหนึ่งแสนบาทโดยจำเลยจะชำระเบื้องต้นสองหมื่นบาทหรือให้โจทก์เก็บผลส้มที่จำเลยปลูกมีกำหนด 5 ปี แทนเงิน 2 หมื่นบาท จำเลยตกลงซื้อและครอบครองปลูกส้มจนโจทก์เก็บผลส้มไปจากจำเลยครบ 5 ปีแล้วขอให้บังคับให้โจทก์ทำสัญญาขายจดทะเบียนโอนที่รายพิพาทให้จำเลยโดยให้โจทก์รับเงินที่ค้าง 80,000 บาทไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมโจทก์ไม่เคยให้คำมั่นว่าจะขาย คำมั่นหรือข้อตกลงไม่มีผลบังคับและขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ทำสัญญาขายที่รายพิพาทจดทะเบียนการโอนให้แก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ราบพิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ตกลงขายสวนรายพิพาทให้แก่จำเลยจริงและยอมให้จำเลยเอาที่ดินไปจัดการปลูกต้นส้มขึ้นเมื่อมีผลแล้วให้โจทก์เก็บผลส้มได้ 5 ปีแทนเงินสองหมื่นบาท มีปัญหาข้อกฎหมายว่า (1) โจทก์ตกลงขายที่ดินตั้งแต่ขณะที่ดินนั้นยังเป็นของมารดาโจทก์ โจทก์ยังไม่ได้รับมรดกมาจะได้หรือไม่ (2) ข้อสัญญาที่ให้โจทก์เก็บผลส้มในที่ดินของโจทก์เองแทนการที่จำเลยจะต้องชำระเงินสองหมื่นบาทแก่โจทก์นั้นจะเป็นการชำระหนี้บางส่วนอันมีผลบังคับโจทก์ได้หรือไม่ สำหรับข้อแรกศาลฎีกาเห็นว่าผู้ ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่จำต้องเป็นเจ้าของที่ดินอยู่เสร็จแล้วในขณะนั้นก็ได้ ส่วนข้อสองนั้นเห็นว่าโจทก์ยอมตกลงให้จำเลยปลูกส้มจนเป็นผลให้โจทก์ได้เก็บได้เป็นเวลา 5 ปี เป็นส่วนหนึ่งของราคาขายที่พิพาทข้อตกลงเช่นนี้ย่อมทำได้ ซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาข้อนี้จนเสร็จแล้ว ย่อมเป็นการชำระหนี้บางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 แล้วชอบที่จะฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมายจึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น ฯลฯ