คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พินัยกรรมจะทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามความประสงค์เดิมของผู้ทำพินัยกรรมก็ดี แต่ก็ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1656 ทุกประการ ดังนี้ ศาลย่อมยกความสมบูรณ์ตามแบบพินัยกรรมอย่างหลังนี้ ขึ้นใช้บังคับได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136
ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยตัดสินคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นั้นจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นนั้น ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2492)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสาวเนยป้าโจทก์ตาย จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนางสาวเนย โดยกล่าวว่านางสาวเนยทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยทั้งสองและผู้อื่นอีก ทั้งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามสำนวนคดีแดง 137/2488 ความจริงพินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดก จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า พินัยกรรมรายนี้เป็นโมฆะใช้ไม่ได้ตามกฎหมายและให้ถอดถอนจำเลยทั้งสองออกจากหน้าที่ผู้จัดการมรดก กับให้ส่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยเป็นสามีนางเนยโดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อนนางเนยได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของนางเนยให้แก่จำเลยและคนอื่น ๆ จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยไม่รู้เห็นความเป็นไปในการทำพินัยกรรม ก่อนวันนัดพิจารณาศาลอนุญาตโจทก์แก้และเพิ่มเติมฟ้องว่าที่ดิน ซึ่งปลูกบ้านเรือนโฉนดที่ 2236 ตำบลศิริราช ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 1 ความจริงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมโดยจำเลยที่ 1 จัดให้นางสาวเนยทำใบมอบฉันทะให้ผู้มีชื่อไปโอนโฉนดให้แก่จำเลยที่ 1 เสร็จไปแล้วก่อนนางสาวเนยตาย ดังปรากฏตามใบมอบฉันทะลงวันที่วันเดียวกับที่ทำพินัยกรรมนั้นเอง ใบมอบฉันทะเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาทำลายการโอนโฉนดตามใบมอบฉันทะดังกล่าว จำเลยที่ 1 ให้การเพิ่มเติมว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่บ้านโฉนดที่ 2236 ตามใบมอบฉันทะของนางสาวเนยโดยสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการโอนโฉนดที่ 2236 ให้ คงมีชื่อนางสาวเนยในโฉนดตามเดิม คำขออื่นให้ยก

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

(1) พินัยกรรม และใบมอบฉันทะได้ทำขึ้นตามความประสงค์ของนางเนย ๆ ได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในเวลามีสติดี

(2) แม้พินัยกรรมนี้จะทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามความประสงค์เดิมของนางเนยก็ดี แต่ก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ทุกประการ ดังนี้ ศาลยกความสมบูรณ์ตามแบบพินัยกรรมอย่างหลังนี้ขึ้นใช้บังคับได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136

(3) ประเด็นข้อนี้ได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ศาลยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นั้น จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากหลักฐานพยาน ซึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ หรือได้จากเอกสารพยานที่มีกฎหมายบังคับให้คู่ความที่กล่าวอ้างต้องแสดงเป็นต้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบ หรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดงกล่าวข้างต้นนั้น ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87

ข้อบกพร่องของใบมอบฉันทะเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวกับพยานและการกรอกชื่อผู้รับมอบฉันทะไม่ถูกต้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากคำเบิกความของพยานอันเป็นการนอกเรื่อง ไม่เกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดจะต้องนำสืบ เพราะไม่มีใครกล่าวอ้างถึง และไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์แต่ประการใด ฉะนั้นจึงรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกกระบวนพิจารณาโดยชอบต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว

พิพากษายืน

Share