คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามในมูลละเมิดโดยบรรยายในส่วนของค่าเสียหาย คือ ค่าจัดการศพ 35,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 2,500 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 600,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายทั้งหมดเพียง 537,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าจัดการศพ 30,000 บาท เป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับพร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เช่นนี้ ในส่วนของค่าจัดการศพซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง 30,000 บาท นั้นต้องนำไปคิดรวมเป็นทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนด้วย ดังนั้นรวมเป็นค่าเสียหายในส่วนของโจทก์ที่ 2เพียง 130,000 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา ระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่ 2 คงมีเพียง 130,000 บาท ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพราะการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นั้นสูงเกินไป ถือว่าโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนของโจทก์ที่ 2

Share