คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกใช้กำลังฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 กับทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกันไม่ขาดตอนด้วยเจตนาฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 ไปให้เป็นผลสำเร็จเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 310, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธมีดและหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 295, 310 วรรคแรก, 371, 83 ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับสาเหตุจากการกระทำผิดเกิดจากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับฝ่ายครอบครัวผู้เสียหายที่ 3 เนื่องจากต่างฝ่ายนับถือศาสนาต่างกันมาก่อน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ต้องตัดสินใจ เพื่อต้องการให้ผู้เสียหายที่ 3 และบุตรกลับมาอยู่ร่วมกันเหมือนเดิมแต่กระทำโดยปราศจากความยั้งคิดทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีก ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษมาก่อนถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 75 บาท ริบของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามมาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 4,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมจำเลยที่ 2 และผู้เสียหายที่ 3 ต่างอยู่ที่ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2541 จำเลยที่ 2 แต่งงานกับผู้เสียหายที่ 3 ตามหลักศาสนาอิสลามแล้วย้ายไปอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนกระทั่งมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน เมื่อประมาณต้นปี 2544 ผู้เสียหายที่ 3 พาบุตรซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 2 เดือน กลับไปอยู่กับบิดามารดาที่ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ประพฤติตนตามหลักศาสนาอิสลาม หลังจากนั้นประมาณต้นเดือนมีนาคม 2544 จำเลยที่ 2 พาโต๊ะอิหม่ามและผู้ใหญ่ไปพบผู้เสียหายที่ 3 ที่บ้านเพื่อขอให้ผู้เสียหายที่ 3 กลับไปอยู่ด้วยกัน แต่ผู้เสียหายที่ 3 และนายหมีด บิดาไม่ยินยอมและให้จำเลยที่ 2 ประพฤติตนตามหลักศาสนาอิสลามเสียก่อน จำเลยที่ 2 รับปากแล้วกลับไป วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายสะหม้อหรือประถมหรือปฐม นั่งรถยนต์กระบะไปหาผู้เสียหายที่ 3 ที่บ้าน จำเลยที่ 2 อุ้มบุตรไปที่รถโดยจำเลยที่ 1 และนายสะหม้อช่วยกันฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 ตามไป ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นน้องผู้เสียหายที่ 3 เข้าขัดขวางจึงเกิดต่อสู้กับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย ในขณะเดียวกันผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายผู้เสียหายที่ 3 จะเข้าช่วยผู้เสียหายที่ 3 ก็ถูกนายสะหม้อใช้อาวุธปืนยิงบริเวณหน้าท้องได้รับบาดเจ็บ จากนั้นจำเลยที่ 2 อุ้มบุตรขึ้นรถและจำเลยที่ 1 กับนายสะหม้อช่วยกันฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 ขึ้นรถพากันหนีไป
สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามโจทก์ฎีกา ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีด ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกับพวกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และฐานร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายสะหม้อเป็นเพื่อนกันมานานสิบปีย่อมทราบสภาพปัญหาของครอบครัวของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายสะหม้อร่วมเดินทางไปบ้านบิดามารดาผู้เสียหายที่ 3 ในวันเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 อุ้มบุตรไปที่รถพร้อมกันนั้น จำเลยที่ 1 กับนายสะหม้อก็ฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 ไปที่รถแสดงว่ามีการคบคิดวางแผนกันมาก่อนว่า หากครอบครัวของผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอมให้ผู้เสียหายที่ 3 กับบุตรไปอยู่กับจำเลยที่ 2 จะกระทำการต่อไปอย่างใด ประกอบกับในวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายสะหม้อร่วมเดินทางมาจากอำเภอหาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร จำเลยที่ 2 น่าจะทราบว่านายสะหม้อมีอาวุธปืน เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุช่วงที่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายสะหม้อเดินทางจากอำเภอหาดใหญ่ไปที่บ้านบิดามารดาผู้เสียหายที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 กับนายสะหม้อคบคิดวางแผนที่จะใช้อาวุธปืนหรือจำเลยที่ 1 ทราบว่านายสะหม้อพาอาวุธปืนติดตัวไปด้วย โจทก์คงมีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ช่วงที่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายสะหม้อไปที่บ้านบิดามารดาผู้เสียหายที่ 3 โดยผู้เสียหายทั้งสามและนางน๊ะ มารดาผู้เสียหายทั้งสามเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายสะหม้อเดินทางมาถึง จำเลยที่ 2 และที่ 1 ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายที่ 3 และนางน๊ะในบ้าน จำเลยที่ 2 ขออุ้มบุตร แล้วนายสะหม้อเข้าไปในบ้านบอกให้ผู้เสียหายที่ 3 เก็บเสื้อผ้าไปอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ แต่ผู้เสียหายที่ 3 ปฏิเสธ นายสะหม้อและจำเลยที่ 1 จึงเข้าไปฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 ตามจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะนั้นกำลังอุ้มบุตรเดินไปที่รถ ผู้เสียหายที่ 3 ร้องขอความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 เข้าขัดขวางและชกต่อยต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ในขณะเดียวกันผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้กันนั้นถือไม้ไผ่จะเข้าช่วยผู้เสียหายที่ 3 ก็ถูกนายสะหม้อใช้อาวุธปืนยิง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าว นายสะหม้อไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 2 ที่เข้าขัดขวางเป็นคนแรกทั้งที่มีโอกาสกระทำได้ แต่กลับใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งถือไม้ไผ่ ส่อว่าที่นายสะหม้อใช้อาวุธปืนยิงเพราะเกรงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะใช้ไม้ไผ่เป็นอาวุธทำร้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลัน ไม่ใช่เป็นเพราะมีการคบคิดวางแผนที่จะใช้อาวุธปืนกันมาก่อน ทั้งพยานโจทก์ทั้งสี่ก็ไม่เห็นนายสะหม้อพกอาวุธปืนแสดงว่านายสะหม้อซุกซ่อนอาวุธปืนอย่างมิดชิด จำเลยที่ 2 ไม่อาจสังเกตเห็นโดยง่าย และย่อมไม่ทราบว่านายสะหม้อมีอาวุธปืนติดตัวมา แม้พยานโจทก์ทั้งสี่จะเบิกความว่า จำเลยที่ 2 พูดบอกในทำนองให้ใช้อาวุธปืนยิง แต่ในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความว่าได้รับทราบมาจากนางน๊ะอีกทอดหนึ่ง ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ที่เบิกความว่าได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 พูดนั้นก็กลับไม่ได้ยินเสียงปืนนัดแรกที่นายสะหม้อยิงทั้งที่ถูกนายสะหม้อฉุดลาก ผิดปกติวิสัย สำหรับผู้เสียหายที่ 1 และนางน๊ะนั้นนอกจากจะเบิกความขัดกันโดยผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 พูดหลังจากนายสะหม้อใช้อาวุธปืนยิง แต่นางน๊ะเบิกความว่า จำเลยที่ 2 พูดก่อนนายสะหม้อใช้อาวุธปืนยิง คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนางน๊ะดังกล่าวยังแตกต่างจากผู้เสียหายที่ 2 ที่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ขณะผู้เสียหายที่ 1 ถูกยิง ผู้เสียหายที่ 2 กำลังต่อสู้กอดรัดอยู่กับจำเลยที่ 1 ไม่ไกลจากจำเลยที่ 2 นัก แต่กลับไม่ได้ยินเสียงพูดว่าให้ยิง เป็นพิรุธ ไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 จะพูดบอกนายสะหม้อในทำนองให้ใช้อาวุธปืนยิง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่านายสะหม้อพาอาวุธปืนติดตัวไปและจำเลยที่ 2 กับนายสะหม้อคบคิดวางแผนที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกับพวกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และฐานร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การกระทำความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายกับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าการทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กระทำด้วยเจตนาต่างกันและแยกออกจากกันได้กับการทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ในข้อนี้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกใช้กำลังฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 กับทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกันไม่ขาดตอนด้วยเจตนาฉุดลากผู้เสียหายที่ 3 ไปให้เป็นผลสำเร็จเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share