คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมเจ้าของที่ดินตกลงให้ ท.เช่าที่ดินเพื่อปรับปรุงก่อสร้างอาคารพาณิชย์โดยให้กรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างตกเป็นของเจ้าของที่ดินนับแต่วันสร้างเสร็จ และให้ ท.มีสิทธิเก็บผลประโยชน์ได้เป็นเวลา 12 ปีนับแต่วันครบกำหนดก่อสร้าง ต่อมา ท. ได้โอนสิทธิตามสัญญาเช่าให้โจทก์ตามที่มีข้อตกลงอนุญาตไว้ เจ้าของที่ดินได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดิน จำเลยไม่ยอมขนย้ายออกไปทำให้โจทก์เข้าก่อสร้างในที่ดินที่เช่าไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยเรียกเจ้าของที่ดินเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม พร้อมกับยื่นคำฟ้อง ดังนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยเข้าอยู่ในที่เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วม อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วม โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่เช่าโดยละเมิดได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่เช่าก่อน และแม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยลำพัง โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 และ 549 ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์บริบูรณ์ขึ้นได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1053/2509)
ในกรณีดังกล่าวเมื่อจำเลยทำละเมิด ย่อมต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะผลแห่งการละเมิด และศาลจะบังคับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนสถานใดเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และค่าสินไหมทดแทนนั้นรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ ที่จำเลยได้ก่อขึ้นนั้นด้วย ฉะนั้นการที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถปลูกตึกแถวในที่เช่าให้เช่าหาประโยชน์ตามสัญญาที่ผูกพันกันระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยได้รับการบอกกล่าวให้ทราบแล้ว จึงต้องถือว่าเป็นความเสียหายอันเนื่องจากจากการทำละเมิดของจำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดี จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ตกลงให้เทศบาลนครกรุงเทพเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยให้เทศบาลนครกรุงเทพก่อสร้างอาคาร 4 ชั้นให้แล้วเสร็จภายใน 9 ปี แล้วยกกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างให้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยอมให้เทศบาลนครกรุงเทพเช่าอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นมีกำหนด 12 ปี โดยมีข้อตกลงให้ผู้เช่าดำเนินการไล่รื้อ บุคคลและทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารเพื่อทำการก่อสร้างโดยผู้ให้เช่าจะร่วมมือด้วยและมีข้อตกลงกันด้วยว่าผู้เช่าจะโอนสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ ให้บุคคลภายนอกจัดการแทนก็ได้ เทศบาลนครกรุงเทพได้โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาให้โจทก์ โจทก์ได้ประกาศให้ผู้เช่า ผู้อาศัย ขนย้ายรื้อถอนออกไปจากที่เช่า จำเลยเป็นผู้เช่าอาคารจากสำนักงานทรัพย์สินได้ทราบประกาศแล้ว ได้บุกรุกเข้าไปปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่เช่าที่โจทก์ได้รับมอบมา โจทก์บอกกล่าว จำเลยไม่ยอมรื้อเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น 8 คูหาในที่ดินที่จำเลยบุกรุกได้ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จโจทก์จะได้ค่าเช่าอย่างน้อยคูหาละ 5,000 บาทต่อเดือน ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน และใช้ค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนเสร็จ

พร้อมกับยื่นคำฟ้อง โจทก์ขอให้เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าเป็นโจทก์ร่วม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยินยอมและยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่เช่าโดยเหตุผลเช่นเดียวกับฟ้องของโจทก์

จำเลยให้การต่อสู้หลายประการรวมทั้งต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทนายแพทย์สมภพเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยแล้วจำเลยเข้าครอบครองก่อนโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้ทำละเมิด ค่าเสียหายไม่เป็นความจริงและสูงเกินส่วน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินตามฟ้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนขนย้ายเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าจากเทศบาลนครกรุงเทพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มอบการครอบครองที่เช่าให้เทศบาลนครกรุงเทพ และแจ้งให้ผู้เช่าอยู่อาศัยในที่ดินตามสัญญาออกไปจากที่ดินผู้เช่าอยู่อาศัยในที่เช่าส่วนมากได้รื้อย้ายออกไปแล้ว เว้นแต่จำเลยกับพวกสัญญาเช่าที่ดินระหว่างสำนักงานทรัพย์สินฯ กับนายแพทย์สมภพระงับไปแล้ว จำเลยไม่อาจอ้างว่าได้รับโอนสิทธิการเช่าจากนายแพทย์สมภพหรืออยู่ในฐานะบริวาร แล้ววินิจฉัยว่า ต้องถือว่าจำเลยเข้าอยู่ในที่เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินอันเป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน โจทก์และโจทก์ร่วมเจ้าของที่ดินจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่เช่าโดยละเมิดได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่เช่าก่อน แม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยลำพัง โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477, 549 ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์บริบูรณ์ขึ้นได้ตามตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1053/2509 เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยทำละเมิดก็ย่อมต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะผลแห่งการละเมิด ศาลจะบังคับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนสถานใดเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และค่าสินไหมทดแทนนั้นรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ที่จำเลยได้ก่อขึ้นนั้นด้วย เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบฟังได้ว่าการที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถปลูกตึกแถวสี่ชั้น แปดคูหาให้เช่าหาประโยชน์ตามสัญญาที่ผูกพันกันระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งจำเลยได้รับการบอกกล่าวให้ทราบแล้วก็ต้องถือว่าเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการทำละเมิดของจำเลยแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องโดยเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดี จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาทจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share