คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งนี้ไว้ทั้งที่มีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนโจทก์ได้ร่วมกันกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ โดยร่วมกันตั้งข้อหาโจทก์ว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ยักยอกทรัพย์ในที่สุดอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าวต่อมาจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันกลั่นแกล้งโดยทำรายงานเท็จเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์มีมลทินมัวหมอง กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 335,440 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งหกให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุมค่าเสียหายยังไม่แน่นอน หากมีก็ไม่ควรเกิน 17,148 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับว่า ข้อความในเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1, 2, 3 และ 5 ถูกต้องตามความเป็นจริงและโจทก์แถลงรับว่าข้อความในเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ถึง 14ถูกต้องตามความเป็นจริง ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่ต้องสืบพยานต่อไป จึงให้งดชี้สองสถานแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ชี้สองสถานและสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าว พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในวันนัดชี้สองสถานทั้งสองฝ่ายแถลงรับว่าเอกสารถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อคู่ความยอมรับข้อเท็จจริงตามเอกสารแต่ละฝ่ายอ้าง ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานต่อไป คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงชอบแล้ว และเห็นว่าคำสั่งงดชี้สองสถานก็ดี งดสืบพยานก็ดี เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกเหนือจากคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227,228 โจทก์ต้องโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไป เว้นแต่โจทก์จะไม่มีโอกาสโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ คดีนี้ได้ความว่าศาลชั้นต้นสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 และนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่1 มีนาคม 2531 อันเป็นเวลาหลังจากที่ศาลสั่งถึง 14 วัน โจทก์มีโอกาสเพียงพอที่โต้แย้งคัดค้านคำสั่งนี้ได้ แต่ไม่ทำเป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226…”
พิพากษายืน.

Share