คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 97 เมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ย่อมเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น อยู่ภายใต้การจัดการของคณะกรรมการตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งได้ตราขึ้นและจดทะเบียนไว้
ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ.2502 ซึ่งคณะรัฐมนตรีวางไว้ เป็นระเบียบของทางราชการ กำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญแก่ลูกจ้างของส่วนราชการไม่ใช่บังคับแก่บริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ.เว้นแต่คณะกรรมการบริษัทจะอนุมัติให้ใช้ระเบียบดังกล่าวแก่ลูกจ้างของบริษัทด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ถ้าพนักงานประจำออกจากหน้าที่โดยไม่มีความผิด มีสิทธิรับบำเหน็จเช่นข้าราชการ ตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง โจทก์ทำงานเป็นพนักงานบริษัทจำเลย ถูกสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิดมีสิทธิได้รับบำเหน็จ ๗๒,๐๐๐ บาท จำเลยไม่จ่าย ขอให้บังคับ
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งกระทรวงคมนาคมถือหุ้นร้อยละ ๙๗ บริษัทจำเลยไม่เคยมีระเบียบข้อบังคับให้พนักงานที่ออกได้รับบำเหน็จเช่นข้าราชการ ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ และคำสั่งกระทรวงการคลังที่โจทก์อ้าง ใช้เฉพาะแก่หน่วยราชการ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่โจทก์อ้าง โจทก์เองก็ยอมรับว่าเป็นระเบียบของทางราชการ กำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญให้แก่ลูกจ้างของส่วนราชการ แม้บริษัทจำเลยจะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยรัฐบาลถือหุ้นอยู่ถึงร้อยละ ๙๗ ก็ดี แต่บริษัทจำเลยก็ยังมีฐานะเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายที่ก่อตั้งบริษัทขึ้น บริษัทจำเลยมีคณะกรรมการจัดการโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องบริหารกิจการของบริษัทไปตามข้อบังคับซึ่งได้ตราขึ้นและจดทะเบียนไว้ ไม่จำต้องปฏิบัติตามระเบียบของรัฐบาลซึ่งมีฐานะเพียงผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะถือหุ้นมากน้อยเท่าใดเว้นแต่ว่าคณะกรรมการบริษัทจำเลยจะพิจารณาอนุมัติให้ใช้ระเบียบที่รัฐบาลวางไว้ในบางเรื่องที่เห็นเหมาะสมกรณีนี้โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า คณะกรรมการบริษัทจำเลยอนุมัติให้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ แก่ลูกจ้างของบริษัทจำเลยด้วยระเบียบดังกล่าวจึงไม่ใช้บังคับแก่บริษัทจำเลย
พิพากษายืน

Share