คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีของโจทก์เป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดง จึงให้โจทก์ชำระอากรตามสำแดงและให้วางเงินประกันค่าอากรอีกส่วนหนึ่ง ได้มีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้วต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มโจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแจ้งการประเมิน การชำระค่าอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รับสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 10 วรรคห้า ดังนั้น การที่โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้โจทก์จะมิได้สงวนสิทธิในการฟ้องร้องหรือเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืน ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี
เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดในเงินอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามฟ้องจำเลยก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่ากับที่โจทก์ได้ชำระให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคท้ายดังนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอเรียกเงินอากรขาเข้าที่ชำระไว้เดิมพร้อมดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันจะพึงต้องเสีย นับแต่วันชำระอากรขาเข้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้โจทก์ได้ชำระเงินอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินการชำระเงินค่าอากรเพิ่มดังกล่าวเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า เช่นกัน เพราะขณะที่โจทก์รับมอบสินค้าจากกรมศุลกากรนั้นโจทก์ยังมิได้เสียอากรตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องเรียกคืน แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องโจทก์จำเลยปฏิบัติพิธีการศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 และมาตรา 112 ทวิ กล่าวคือ เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและตัวแทนของโจทก์จึงตกลงให้ชำระอากรตามจำนวนที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 29 ฉบับ และให้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ประเมินอากรเพิ่มภายหลังจากที่ได้รับมอบสินค้าแล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งกรณีดังกล่าวพ.ร.บ.ศุลกากรมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความตามบทบัญญัติทั่วไปมีกำหนดสิบปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 (มาตรา 164 เดิม)
หลักเกณฑ์การประเมินตามคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 8/2530ข้อ 2.3 ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดต่อรายที่พิจารณาราคาภายในระยะเวลาไม่เกิน3 เดือน กับคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 47/2531 ข้อ 1.5 ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน 3 เดือน และตามคำสั่ง กค 0614(ก)/8024 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2532 ที่กำหนดให้สินค้าก๊าซเอทธิลีนเหลวเป็นสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว ประกอบคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 8/2530 ข้อ 2.2 ที่ระบุว่าของที่ราคาเคลื่อนไหวเร็วซึ่งกองพิธีการและประเมินอากรร่วมกับกองวิเคราะห์ราคาได้พิจารณากำหนดชนิดของนั้น ๆ ไว้ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน เป็นราคาที่ใช้ในการประเมินอากรนั้น เป็นเพียงแนวทางให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้สำหรับพิจารณาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดโดยเปรียบเทียบราคากับผู้นำเข้ารายก่อนเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบแสดงหลักฐานว่าราคาที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าประเภทชนิดเดียวกันจากแหล่งประเทศกำเนิดเดียวกันโดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินราคาที่โจทก์เคยนำเข้าโดยให้ใช้ราคาสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาราคาภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน หรือ 1 เดือน เป็นราคาที่ใช้ในการประเมินอากรเมื่อโจทก์จำเลยรับกันว่าสินค้าก๊าซเอทธิลีนเหลวเป็นสินค้าที่มีราคาเคลื่อนไหวเร็วมีการเปลี่ยนแปลงราคาเดือนละ 3 ถึง 4 ครั้ง จึงเป็นการไม่แน่นอนว่าราคาสินค้าที่เคยนำเข้าสูงสุดย้อนหลังไม่เกิน 3 เดือน หรือ 1 เดือน ที่จำเลยใช้เป็นเกณฑ์ประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 2 ส่วนโจทก์นำสืบแสดงว่าราคาก๊าซเอทธิลีนเหลวขึ้นลงเร็ว ก่อนโจทก์สั่งซื้อจะต้องสอบถามราคาจากผู้ผลิตและข่าวสารทั่วโลกแหล่งข่าวสารที่โจทก์ติดตามประจำคือ ไอ.ซี.ไอ.เอส. (Indenpendent Chemical InformationService) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลของราคาก๊าซเอทธิลีนเหลวทั่วโลก ราคาของก๊าซเอทธิลีนเหลวมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์ของตลาดเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง ราคาที่โจทก์จัดซื้อเมื่อเทียบเคียงราคาจากข่าวสารจะใกล้เคียงระดับเดียวกัน การซื้อโจทก์ชำระราคาโดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมีใบกำกับสินค้าแสดงราคาสินค้าสัญญาซื้อขาย พร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินของธนาคารเป็นหลักฐาน จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งว่าพยานหลักฐานที่โจทก์สำแดงราคาสินค้าตามที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าและใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 29 ฉบับ ที่โจทก์ซื้อมาและชำระราคาไปแล้วนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ฉะนั้นราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับจึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด

Share