คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1175/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ทายาทของบุคคลเช่นว่านั้น” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 อันจะมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมซึ่งผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดยวิปริตได้กระทำลง จะมีได้ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตายไปแล้ว ดังนั้น เมื่อบุคคลดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่และได้ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินอันเป็นโมฆียะ ผู้สืบสันดานของบุคคลเช่นว่านั้นจึงไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะได้ และไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันล่อลวงให้นายอำภันประไพจิตต์ บิดาโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริต ให้ไปทำการจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2061 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา200,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่า นายอำภันเป็นบุคคลวิกลจริต โจทก์เป็นบุตรผู้สืบสันดานของนายอำภัน เป็นผู้มีส่วนได้เสียได้บอกล้างนิติกรรมดังกล่าวต่อจำเลยทั้งสองแล้ว ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว และให้โอนที่ดินกลับมาเป็นของนายอำภัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ล่อลวงนายอำภันนายอำภันมีสติสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวและไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมของนายอำภันผู้วิกลจริตที่ได้แสดงเจตนาโดยวิปริต จึงมีอำนาจบอกล้างนิติกรรมซื้อขายได้นั้น เห็นว่า คำว่า”ทายาทของบุคคลเช่นว่านั้น” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 อันจะมีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมซึ่งผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ได้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้กระทำลง จะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้ไร้ความสามารถหรือผู้แสดงเจตนาโดยวิปริตได้ถึงแก่ความตายลง ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1604 ที่บัญญัติไว้ว่าบุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนี้ เมื่อนายอำภันยังมีชีวิตอยู่ แม้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายอำภันผู้วิกลจริตก็เป็นเพียงผู้สืบสันดานของนายอำภันเท่านั้น ยังไม่เป็นทายาทและไม่เป็นบุคคลที่บัญญัติไว้ในมาตรา 137โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวได้โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share