คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลายคน และมิได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของแต่ละคนไว้โดยเฉพาะ การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นจึงต้องถือเอาเสียงข้างมาก และนับแต่วันศาลตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว บรรดาทายาททั้งหลายย่อมหมดสิทธิที่จะเข้าจัดการมรดก เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการจัดการมรดกซ้อนอำนาจผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง
จำเลยเช่าที่ดินมรดกจากผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งคนหนึ่ง โดยผู้จัดการมรดกร่วมคนอื่นมิได้รู้เห็นด้วย ดังนี้ถือว่าเป็นการเช่าจากบุคคลที่ไม่มีอำนาจให้เช่าได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงอ้างสิทธิการเช่านั้นไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนด ๑๙๕๐, ๒๓๗๒, ๒๓๗๑ และโรงเรือน เป็นมรดกของหม่อมเจ้าประสบศรีจิรประวัติ โดยไม่มีพินัยกรรมซึ่งโจทก์และหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัดดี จิรประวัติ เป็นทายาทโดยธรรม ศาลแพ่งตั้งพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภ พฤติยากรกับโจทก์และหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัดดีเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมากรมหมื่นพิทยลาภ พฤติยากรลาออก ศาลอนุญาต โจทก์และหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัดดีคงเป็นผู้จัดการมรดกเพียง ๒ องค์ และได้ตกลงแบ่งมรดกที่ดินและโรงเรือนดังกล่าว โดยต่างครอบครองเก็บผลประโยชน์เป็นส่วนสัดแต่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ แต่ปรากฏว่ามรดกส่วนที่ตกได้แก่โจทก์นั้น ประตูวังซึ่งใช้เป็นทางเดินออกไปสู่ตรอกได้ถูกปิดบานประตูไว้ โดยจำเลยทั้งสองได้ก่อกั้นยกพื้นกระทำเป็นห้องประกอบการค้า ทำให้โจทก์เสียหาย และไม่มีทางออกไปสู่ตรอก จึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า เมื่อ ๗-๘ ปีมานี้ จำเลยได้เช่าที่ดินตรงจำเลยปลูกห้องจากหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดีเพื่ออยู่อาศัย ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯ โจทก์ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ และโจทก์ไม่เสียหายดังฟ้อง
ชั้นพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงหลายข้อ และศาลได้ไปตรวจดูที่พิพาท เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเช่าที่พิพาทจากหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัดดีผู้เป็นทายาท – และผู้จัดการมรดกในขณะที่มรดกยังไม่ได้แบ่ง จำเลยเข้าปลูกห้องโดยสุจริตและเชื่อว่าชอบด้วยกฎหมาย จะถือว่าอยู่โดยละเมิดไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดีในฐานะทายาทไม่มีอำนาจให้เช่าได้ และในฐานะผู้จัดการมรดกโจทก์มิได้เข้ามาจัดการร่วมให้จำเลยเช่า จึงเป็นการกระทำนอกขอบเขตผู้จัดการมรดกองค์เดียวจะทำได้ จึงเป็นการเช่าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยละเมิด แม้จำเลยจะเช่าเพื่ออยู่อาศัยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯ จึงพิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยและให้ชำระค่าเสียดายก่อนฟ้อง ๗๖ บาท และต่อไปอีกวันละ ๒ บาท จนกว่าจะรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะที่หม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดีอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทอันเป็นมรดกรายนี้นั้น ศาลแพ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลายองค์ ในคำสั่งมิได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของแต่ละองค์ไว้โดยเฉพาะ การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจึงต้องถือเอาเสียงข้างมากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๖ และนับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว บรรดาทายาททั้งหลายย่อมหมดสิทธิที่จะเข้าจัดการมรดก แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ชัดแจ้ง ก็ต้องถือดังนั้น เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการจัดการมรดกซ้อนอำนาจผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ดังนี้ การให้เช่าที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งขณะนั้นยังมิได้แบ่งปันกัน จะโดยหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดีในฐานะผู้จัดการมรดกหรือในฐานะทายาทอนุญาตให้เช่าก็ตาม ย่อมไม่มีอำนาจที่จะให้เช่าได้ บัดนี้ ที่พิพาทตกได้แก่โจทก์แล้ว แม้จำเลยจะเช่าจากหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดีเพื่ออยู่อาศัยจริง จำเลยก็อ้างสิทธิการเช่าและอ้างความคุ้มครองขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาทต่อไปภายหลังที่โจทก์บอกกล่าวให้รื้อถอน ย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share