คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ไม่ไปตามที่หมายเกณฑ์ตรวจคัดเลือกเข้ารับราชการทหารเพราะเข้าใจผิดว่าบิดาเป็นคนต่างด้าว และตรงกับประกาศทางราชการว่าไม่ต้องเข้ารับราชการทหารนั้น ย่อมถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงขัดขืนการเกณฑ์
เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ศาลจะใช้ดุลพินิจให้รอการกำหนดโทษไว้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ก็ได้

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่าจำเลยเป็นบุตรคนต่างด้าวและเป็นทหารกองเกินได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจคัดเลือกเข้ารับราชการทหาร จำเลยบังอาจขัดขืนหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารจึงถูกฟ้อง

จำเลยแก้ว่าเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุตรคนต่างด้าวไม่ต้องไปรับตรวจเลือกเพราะก่อนวันนัดมีวิทยุทางการประกาศเช่นนั้น และได้ถามเจ้าพนักงานอำเภอก็ยืนยันเช่นกัน

ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อแก้ตัวจำเลยฟังไม่ขึ้นมีผิดพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2479 มาตรา 16, 23, 41 พระราชบัญญัติฉบับที่ 3พ.ศ. 2483 มาตรา 9 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 16, 27, 45 จำคุก 6 เดือนลดตามมาตรา 59 ประมวลกฎหมายอาญาจำคุก 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่ไปรับการตรวจเลือกเพราะบิดาเป็นคนต่างด้าวตรงกับประกาศของทางราชการไม่ต้องการเข้ารับราชการทหารและสอบถามสัสดีอำเภอแล้ว จำเลยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดหมายเรียกไม่มีผิด พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฉบับเดิม(พ.ศ. 2479) มาตรา 23 ก็ดี ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2497) มาตรา 27 ก็ดี บัญญัติข้อความทำนองเดียวกันว่าทหารกองเกินที่ถูกเรียกต้องมา ฯลฯ ถ้าไม่มีให้ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นดังระบุไว้ในมาตรานั้น ๆ เช่นไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น ไปรับราชการต่างประเทศ เกิดเหตุสุดวิสัย ฯลฯ

คำว่าหลีกเลี่ยงขัดขืนมีบทวิเคราะห์ไว้ดังนี้ ตามที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวมิได้อยู่ในข่ายข้อยกเว้น จึงต้องถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน

จึงพิพากษากลับจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ. 2479 มาตรา 23, 41 (ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบัน มาตรา 45กำหนดโทษไว้เท่ากัน) จะลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี จึงให้รอการกำหนดโทษไว้ภายในระยะเวลา 1 ปี

Share