คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1158/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประสงค์จะขายฝากที่ดินของตนบางส่วน แต่เพิ่อความสดวกในทางทะเบียนผู้รับขายฝากกับโจทก์จึงตกลงกันว่าให้โจทก์ทำขายฝากกับผู้รับฝากทั้งหมด ส่วนที่โจทก์ไม่ได้ขายฝากไว้นั้น ผู้รับขายฝากได้ทำเป็นหนังสือยกให้แก่โจทก์และให้โจทก์ครอบครองในส่วนนั้นตลอดมา ดังนี้หนังสือยกให้ที่ผู้รับขายฝากทำให้แก่โจทก์นั้นโจทก์ย่อมอ้างเป็นพยานหักล้างหลักฐานการขายฝากในส่วนที่โจทก์ไม่ตั้งใจขายฝากไว้ได้ เพราะเป็นการสืบถึงนิติกรรมที่อำพรางไว้ ไม่ใช่สืบแก้ไขเอกสารสัญญาขายฝากนอกจากนี้ยังฟังเป็นเอกสารอันหนึ่งได้ว่าผู้รับขายฝากได้สละเจตนาเป็นเจ้าของในที่ดินส่วนนั้น และเมื่อโจทก์ครอบครองมาเป็นเวลาเกิน 20 ปีแล้วย่อมได้กรรมสิทธิตาม ป.พ.พ.ม. 1382 อยู่ดี
ปัญหาข้อใดแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะได้กล่าวไว้ แต่คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมา ปัญหาข้อนั้นก็เป็นอันยุติเพราะไม่มีอะไรที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยถึง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและร้องเพิ่มเติมฟ้องว่าเดิมโจทก์กับนางนกน้องสาวเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๓๕๓๖ ตำบลบางพลับ จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ ๔๗ ไร่ ๑ งาน ๒๐ วา ถือกรรมสิทธิคนละครึ่ง ๆ ของโจทก์อยู่ทางทิศเหนือของนางนกอยู่ทางทิศใต้ แล้วโจทก์กับนางนกได้ขายฝากที่ดินนี้ไว้กับนายแสงพี่ชาย นางนกขายฝากทั้งหมดส่วนของโจทก์ขายฝากเพียง ๓๐ ไร่ ๒ งาน ๒๐ วา โจทก์ยังคงเหลือที่อยู่ ๑๓ ไร่ซึ่งโจทก์ได้ครอบครองตลอดมา ต่อมานางนกตาย นายแสงผู้รับขายฝาดได้พูดกับโจทก์และทายาทของนางนกขอให้โอนโฉนดที่ ๓๕๓๖ แก่นายแสง และนายแสงได้ทำหนังสือสัญญายกที่ดินนอกจากที่ขายฝาก ๑๓ ไร่ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์และนายพานางนกจึงได้โอนที่ดินโฉนดที่ ๓๕๓๖ ให้แก่นายแสง ๆ ได้เอาชื่อนางเยื้อนลงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิร่วม ต่อมานายแสงได้โอนที่ดินนี้ให้กับนางพยอม แต่โจทก์ยังคงครอบครองที่ของโจทก์ตลอดมา ต่อมานายแสงตาย ถ้าถือว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นโจทก์ก็ได้สิทธิทางครอบครองเกิน ๒๐ ่ปีแล้วต่อมาจำเลยที่ ๑,๒ ได้ทำสัญญาจำนองที่ทั้งแปลงไว้กับจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๑,๒ ได้มาจดทะเบียนขอเพิ่มเงินจำนองจากจำเลยที่ ๓ โจทก์ห้ามก็ไม่เชื่อ จึงขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดที่ ๓๕๓๖ ระหว่างจำเลยที่ ๓ เฉพาะเนื้อที่ ๑๓ ไร่ของโจทก์เสีย และพิพากษาว่าที่ ๑๓ ไร่นี้เป็นของโจทก์ในทางครอบครอง
จำเลยที่ ๑,๒ ต่อสู้ว่า โจทก์และนางนกได้ขายฝากที่รายนี้ไว้กับนายแสงและจำเลยที่ ๑ เมื่อนางนกตาย นายอยู่สามีและ ด.ช.ทองม้วน ด.ญ.ละไม้ ด.ญ.บุญศรี ด.ช.ต้อย บุตรนางนกได้รับมรดกเฉพาะส่วนของนางนก ต่อมาโจทก์และทายาทของนางนกไม่มีเงินชำระหนี้การขายฝากจึงยอมให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่นายแสงและจำเลยที่ ๑ ต่อมานายแสงยกที่เฉพาะส่วนของนายแสงให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ เคยขายฝากที่เฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๑ ไว้กับผู้มีชื่อ ๒ ครั้งต่อมาจำเลยที่ ๑,๒ ได้ จำนองที่รายนี้ไว้กับจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทแล้วมาขอขึ้นเงินอีก ๙,๐๐๐ บาท การจำนองและการขึ้นเงินนี้ได้กระทำไปโดยสุจริต โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ ๑๓ ไร่ โจทก์ทำนานี้โดยเช่าจากจำเลยที่ ๑,๒ พินัยกรรม (หนังสือสัญญาของนายแสง ) ที่โจทก์อ้างนั้นนายแสงจะได้ทำให้โจทก์ไว้จริงหรือไม่ ๆ ทราบหากทำไว้จริงก็ไม่มีสิทธิเพราะนายแสงได้ยกที่ดินส่วนของนายแสงให้แก่ น.ส.พยอมจำเลยที่ ๒ ในขณะยังมีชีวิตอยู่และได้จดทะเบียนสิทธิการให้โดยถูกต้องตาม ก.ม.แล้ว พินัยกรรมที่โจทก์อ้างจึงไม่มีผล และฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องและห้ามโจทก์และบริวารอย่าให้มาเกี่ยวข้องในที่ ๆ โจทก์เช่าต่อไป
จำเลยที่ ๓ ต่อสู้ว่าได้รับจำนองที่ดินรายนี้โดยสจริตและได้จดทะเบียนถูกต้องตาม ก.ม.แล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยทำนองเดียวกันกับที่กล่าวในฟ้อง และปฏิเสธว่าไม่เคยเช่านาจำเลยและว่าเมื่อจำเลยทั้งสามจะทำสัญญาจำนองและขอเพิ่มเงินกับโจทก์ได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นที่ของโจทก์ ๑๓ ไร่
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้โอนนาของโจทก์ให้นายแสง ไป ๑๐ ไร่เศษ ส่วนที่เหลือยังครอบครองอยู่จนบัดนี้ไม่เชื่อว่าเช่าจำเลยโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทในฐานะอย่างเจ้าของติดต่อกัน ๑๐ ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิตาม ป.พ.พ.ม. ๑๓๘๒ แต่โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนสิทธิที่ได้มา จึงเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และจะยกขึ้นต่อสู้กับจำเลยที่ ๓ บุคคลภายนอกซึ่งได้รับจำนองไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิไว้โดยสุจริตแล้วไม่ได้ พิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิในที่ดินโฉนดที่ ๓๕๓๖ เฉพาะเนื้อที่ ๆ โจทก์ครอบครองอยู่เป็นจำนวน ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๖๔ วา ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อให้เพิกถอนการจำนองที่รายนี้เฉพาะเนื้อที่ ๑๓ ไร่ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ฯลฯ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้ง ๓ ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่โจทก์ว่าโจทก์ขายฝากนาโจทก์เพียง ๑๐ ไร่เศษยังเหลืออีก ๑๐ ไร่เศษนั้น โจทก์มีพยานมั่นคงกว่า พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าโจทก์มิได้ขายฝากส่วนที่โจทก์ยังครอบครองเอกสารอยู่นั้น การสืบเช่นนี้ย่อมสืบได้เพราะเป็นการสืบถึงนิติกรรมที่อำพรางไว้ไม่ใช่สืบแก้ไขเอกสารสัญญาขายฝากดังจำเลยกล่าว อย่างไรก็ดี การครอบครองของโจทก์นั้นเป็นการครอบครองอย่างเจ้าของ เพราะนายแสงได้ทำหนังสือยกให้โจทก์ หนังสือที่นายแสงทำให้นี้จะเป็นพินัยกรรมที่ใช้ได้หรือไม่ หรือจะเป็นหนังสือที่ยกให้ถูกต้องตาม ก.ม.หรือไม่ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีนี้ เพราะรับฟังเป็นพยานเอกสารอันหนึ่งได้ว่าเป็นการที่นายแสงสละเจตนาเป็นเจ้าของที่ส่วนนั้น และโจทก์ได้ครอบครอบอย่างเจ้าของมา ๒๐ ปี แล้วย่อมได้กรรมสิทธิตาม ป.พ.พ.ม. ๑๓๒๘ ไม่ เชื่อว่าโจทก์เช่าจำเลย
ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ผู้รับจำนองนั้นโจทก์มิได้อุทธรณ์ปัญหาเฉพาะข้อนี้จึงยุติ แม้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะได้กล่าวไว้ว่า จำเลยได้ทราบสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินที่จำนอง จำเลยที่ ๓ จะยก ป.พ.พ. ม. ๑๒๙๙ วรรค ๑ มาโต้แย้งมิได้ก็ดี แต่ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็คงพิพากษายืนมิได้แก้ไขคำบังคับในคำพิพากษาศาลชั้นต้นประการใด จำเลยที่ ๓ ก็คงได้รับผลตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลฎีกาจึงไม่มีอะไรจะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกัยจำเลยที่ ๓ อีก
พิพากษายืน

Share