แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จะใช้อายุความเรื่องละเมิดหรือใช้อายุความทั่วไปนั้น ต้องพิจารณาจากการบรรยายในคำฟ้องของโจทก์เพื่อให้เห็นเจตนาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยอ้างอิงหรืออาศัยสิทธิตามกฎหมายใดเป็นหลัก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดโดยตรง หรือฟ้องโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีหลักสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน กรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิด มักจะต้องบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่า จำเลยจงใจกระทำการใด ๆ หรือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในคำฟ้องคดีนี้แล้วไม่ปรากฏแจ้งชัดว่าโจทก์ได้ใช้ถ้อยคำที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาฟ้องโดยอาศัยสิทธิในมูลละเมิดโดยตรงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม คำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยกล่าวในตอนต้นให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในเขตที่รับผิดชอบมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ต่อมาจึงบรรยายโดยใช้ถ้อยคำว่าการกระทำของจำเลยโดยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัดฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่า อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ดูแลอยู่ ทั้งในตอนท้ายโจทก์ก็บรรยายในคำฟ้องแจ้งชัดว่า การกระทำของจำเลยนั้นทำให้เกิดความเสียหาย โดยโจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โดยกำหนดจากหลักเกณฑ์ความเสียหายในทางแพ่งตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 97 ดังกล่าวระบุในทำนองว่า ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป การบรรยายในคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่ใช่การบรรยายฟ้องในเรื่องละเมิดโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คือ 10 ปี เมื่อจำเลยกระทำความผิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จึงยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 3,385,819.67 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 โจทก์และจำเลยอ้างส่งคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3693 – 3697/2549 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า เดิมพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยคดีนี้กับพวก เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น โดยกล่าวหาว่าจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง และแผ้วถางป่า ด้วยการตัดฟัน โค่น เลื่อย และชักลากไม้ในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตต้นน้ำลำธาร อันเป็นการทำให้เป็นอันตรายและทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติป่าภูพาน และเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดโดยพนักงานอัยการโจทก์ไม่อุทธรณ์ ตามสำเนาคำพิพากษา ต่อมาโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ในศาลชั้นต้นจำเลยเป็นฝ่ายยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยอ้างว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความละเมิดแล้ว เนื่องจากโจทก์มาฟ้องคดีนี้เกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลตรงกันว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความละเมิดจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลย โจทก์ฎีกาโดยอ้างว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิด แต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป คือ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่า กรณีจะใช้อายุความเรื่องละเมิดหรือใช้อายุความทั่วไปนั้น ต้องพิจารณาจากการบรรยายในคำฟ้องของโจทก์เพื่อให้เห็นเจตนาว่า ในคำฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยอ้างอิงหรืออาศัยสิทธิตามกฎหมายใดเป็นหลัก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดโดยตรง หรือฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ก็มีหลักสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน กรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิด มักจะต้องบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่า จำเลยจงใจกระทำการใดๆ หรือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในคำฟ้องคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏแจ้งชัดว่าโจทก์ได้ใช้ถ้อยคำที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาฟ้องโดยอาศัยสิทธิในมูลละเมิดโดยตรงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม คำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยกล่าวในตอนต้นให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในเขตที่รับผิดชอบ มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับรวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ต่อมาจึงบรรยายโดยใช้ถ้อยคำว่าการกระทำของจำเลยโดยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัดฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่า อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ดูแลอยู่ ทั้งในตอนท้ายโจทก์ก็บรรยายในคำฟ้องแจ้งชัดว่า การกระทำของจำเลยนั้นทำให้เกิดความเสียหาย โดยโจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โดยกำหนดจากหลัก เกณฑ์ความเสียหายในทางแพ่งตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 97 ดังกล่าวระบุในทำนองว่า ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป การบรรยายในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ใช่การบรรยายฟ้องในเรื่องละเมิดโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วยนั้นเอง ซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คือ 10 ปี นั่นเอง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยกระทำความผิดตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2542 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จึงยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานและพิพากษาใหม่ตามประเด็นแห่งคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่