คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11432/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถบรรทุกสิบล้อขนส่งเหล็กที่จำเลยที่ 2 ขับมีน้ำหนักมาก คนขับจำต้องตรวจสอบยางเป็นระยะ เพื่อป้องกันมิให้ยางระเบิดซึ่งอาจทำให้รถพลิกคว่ำเป็นเหตุให้รถและเหล็กที่บรรทุกมาเสียหายได้ ถนนที่เกิดเหตุก็เป็นถนนคอนกรีตฝั่งละ 3 ช่องทางเดินรถ มีเกาะกลางถนนและมีไฟฟ้าส่องสว่าง ไม่ใช่ถนนที่มีสภาพเปลี่ยวมากนัก เมื่อถูกคนร้ายปล้นรถและเหล็กแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ถูกคนร้ายใช้มีดฟันจนดั้งจมูกหัก แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจะถูกคนร้ายปล้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 99/2551
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลาง ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 จำเลยที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขับรถขนส่งเหล็ก ได้รับค่าจ้างสุดท้ายวันละ 200 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันเสาร์ ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2551 โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกสิบล้อขนส่งเหล็กไปส่งที่จังหวัดสระบุรี เมื่อถึงถนนร่มเกล้า เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 จอดรถตรวจสอบยางในที่เปลี่ยว และถูกคนร้ายสามคนปล้นเอาเหล็กราคาประมาณ 390,000 บาท ของโจทก์ไป และคนร้ายได้ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 2 โดยใช้มีดฟันที่ใบหน้าของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ดั้งจมูกหักและมีบาดแผลที่แก้มขวา แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า รถบรรทุกสิบล้อขนส่งเหล็กที่จำเลยที่ 2 ขับมีน้ำหนักมาก คนขับจำต้องตรวจสอบยางเป็นระยะ เพื่อป้องกันมิให้ยางระเบิด ซึ่งอาจทำให้รถพลิกคว่ำเป็นเหตุให้รถและเหล็กที่บรรทุกมาเสียหายได้และถนนร่มเกล้าที่เกิดเหตุก็เป็นถนนคอนกรีตฝั่งละ 3 ช่องเดินรถมีเกาะกลางถนนและมีไฟฟ้าส่องสว่าง ไม่ใช่ถนนที่มีสภาพเปลี่ยวมากนัก เมื่อถูกคนร้ายปล้นรถและเหล็กแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ถูกคนร้ายใช้มีดฟันจนดั้งจมูกหัก แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจะถูกคนร้ายปล้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่อโจทก์เลิกจ้าง โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 2 ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share