คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีละเมิดรายนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดห้างหนึ่ง แล้วถอนฟ้องไปเพราะฟ้องผิดตัว ต่อมาได้ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดอีกห้างหนึ่งกับพวกเป็นจำเลยใหม่ในคดีนี้ แสดงว่าโจทก์เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงหลังจากฟ้องคดีแรกแล้ว นับถึงวันฟ้องคดีใหม่นี้ยังไม่เกิน 1 ปีคดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
ตามสัญญาวางมัดจำซื้อรถยนต์ (ชั่วคราว) ระหว่างโจทก์กับอ.ระบุว่า.ในระหว่างที่อ. ยังส่งเงินไม่ครบจะนำทรัพย์สินไปซื้อขายหรือทำนิติกรรมใดกับผู้อื่นไม่ได้หากฝ่าฝืนยอมให้ถือว่าได้ยักยอกทรัพย์สินของโจทก์แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาได้ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถคันนี้ยังเป็นของโจทก์อยู่จนกว่าจะได้รับชำระราคาครบถ้วนดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้ขายยังไม่ได้รับชำระราคาครบถ้วนโจทก์จึงยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้
โจทก์ฟ้องห้างหนึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์เพิ่งทราบว่ารถยนต์ที่ทำละเมิดเป็นของห้างอีกห้างหนึ่งซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ ณ อาคารเดียวกันกับห้างจำเลยที่ 1 บุคคลภายนอกทั่วไปย่อมเข้าใจว่าห้างทั้งสองนี้เป็นห้างเดียวกัน เพราะชื่อของห้างซ้ำและเลียนกัน หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างทั้งสองก็คือจำเลยที่ 2 คนเดียวกันป้ายชื่อก็ติดตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกันพนักงานลูกจ้างตลอดจนเครื่องใช้ในสำนักงานก็ใช้ร่วมกัน โจทก์จึงชอบจะขอให้ศาลหมายเรียกห้างอีกห้างหนึ่งนั้นเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกห้างอีกห้างหนึ่งนั้นเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3)(ข) ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิดซึ่งรถยนต์บรรทุกน้ำมันของฝ่ายจำเลยชนรถยนต์ฝ่ายโจทก์

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การต่อสู้คดีหลายประการ รวมทั้งโจทก์ในสำนวนที่สองมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเกิดเหตุ ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องของโจทก์ทุกสำนวนขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นบางส่วน

จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ให้จำเลยชำระแก่โจทก์

จำเลยทุกสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความนั้น ปรากฏว่าโจทก์เคยฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีละเมิดรายนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้ง แล้วถอนฟ้องไปเพราะฟ้องผิดตัว และได้ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้งทรานสปอร์ต กับพวก เป็นจำเลยใหม่ในคดีนี้แสดงว่าโจทก์เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงหลังจากฟ้องคดีแรกแล้วนับถึงวันฟ้องคดีใหม่นี้ยังไม่เกิน 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำสัญญาขายรถยนต์คันที่ถูกชนให้กับนายโอฟีไปแล้วจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ตามสัญญาวางมัดจำซื้อรถยนต์ (ชั่วคราว) ระหว่างโจทก์กับนายโอฟีระบุว่า ในระหว่างนายโอฟียังส่งเงินไม่ครบ จะนำทรัพย์สินไปซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือทำนิติกรรมอย่างใด ๆ กับผู้อื่นมิได้ หากฝ่าฝืนยอมให้ถือว่าได้ยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ สัญญาดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถคันนี้ยังเป็นของโจทก์อยู่จนกว่าจะได้รับชำระราคาครบถ้วน ดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้ขายยังไม่ได้รับชำระราคาครบถ้วน โจทก์จึงยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถคันนี้อยู่ มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้

ที่จำเลยร่วมในสำนวนที่สามฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้งทรานสปอร์ตเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57และ 172 นั้น เดิมโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้งเป็นจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์เพิ่งทราบว่ารถยนต์บรรทุกน้ำมันซึ่งเป็นตัวการในการละเมิดเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้งทรานสปอร์ต สถานที่ตั้งของห้างก็อยู่ ณ อาคารเดียวกันกับห้างจำเลยที่ 1 บุคคลภายนอกทั่วไปย่อมเข้าใจว่าห้างทั้งสองนี้เป็นห้างเดียวกัน เพราะชื่อของห้างซ้ำและเลียนกันหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างทั้งสองก็คือจำเลยที่ 2 คนเดียวกัน ป้ายชื่อก็ติดตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน พนักงานลูกจ้างตลอดจนเครื่องใช้ในสำนักงานก็ใช้ร่วมกัน โจทก์จึงชอบจะขอให้ศาลหมายเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้งทรานสปอร์ตเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้งทรานสปอร์ตเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3)(ข) ได้

พิพากษายืน

Share