แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นสารวัตรตำรวจ รักษาการแทนสารวัตรใหญ่จึงเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจค้นด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92 ให้อำนาจไว้ แม้จำเลยที่ 1 จะออกหมายค้นด้วย และหมายค้นนั้นจะระบุสิ่งของที่ต้องการค้นไว้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจเอาผิดแก่จำเลยที่ 1 ได้ และย่อมไม่อาจเอาผิดแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นตำรวจที่ไปร่วมค้นด้วย ดังนั้น ปัญหาว่าหมายค้นออกมิชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้ระบุสิ่งของที่ต้องการค้นจึงมิใช่ข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกับพวกได้บุกรุกเข้าไปในบ้านของโจทก์และทำการตรวจค้นบ้านโจทก์โดยไม่แสดงหมายค้นทั้งหมายค้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ระบุสิ่งของที่ต้องการค้นและมิได้แสดงความบริสุทธิ์ก่อนลงมือค้นด้วยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 362, 365, 83, 90
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นสารวัตรตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางมด ขณะเกิดเหตุรักษาการแทนสารวัตรใหญ่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ได้พาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปค้นบ้านโจทก์เพื่อค้นหาแปรงทาสีของนายวิรัฐ ซึ่งแจ้งความไว้ว่าหายไปและมีผู้เอาไปขายให้โจทก์ ในการค้นนี้จำเลยที่ 1 ได้ออกหมายค้นด้วยโดยระบุว่าเพื่อค้นหาของกลางและสิ่งผิดกฎหมาย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 1 เป็นสารวัตรตำรวจ ขณะเกิดเหตุรักษาการแทนสารวัตรใหญ่จำเลยที่ 1 จึงเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจค้นด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 ให้อำนาจไว้ เมื่อปรากฏว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ไปค้นด้วยตนเอง การค้นนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ โดยไม่ต้องอาศัยหมายค้น ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1จะได้ออกหมายค้นด้วย และหมายค้นนั้นจะระบุสิ่งของที่ต้องการค้นไว้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจเอาผิดแก่จำเลยที่ 1 ได้ และย่อมไม่อาจเอาผิดแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ด้วยได้ ฉะนั้นปัญหาที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาว่าหมายค้นที่จำเลยที่ 1 ออกเป็นหมายที่ออกมิชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้ระบุสิ่งของที่ต้องการค้นไว้ในหมายค้นจึงมิใช่ข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์