คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1122/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอยู่กับผู้ตายซึ่งเป็นมารดาเลี้ยง จำเลยขอเงินผู้ตายเพื่อเอาไปให้หมอเป็นค่ารักษาไข้ ผู้ตายไม่ให้ และด่าจำเลยว่าลูกหมา ชาติหมา แล้วผู้ตายขึ้นไปชั้นบนถือปืนลูกซองลงมาจ้องจะยิงจำเลย จำเลยใช้มือซ้ายจับปากกระบอกปืนและใช้มือขวาจับด้ามขวาน เหวี่ยงสันขวานไปที่ขมับซ้ายของผู้ตาย ผู้ตายปล่อยปืนล้มนอนหงาย จำเลยแย่งปืนจากผู้ตายไว้ ขณะนั้นผู้ตายไม่มีอาวุธอะไรเลย และไม่มีโอกาสทำร้ายจำเลยได้อีกแล้ว จำเลยยังใช้ปืนยิงผู้ตายถึง 2 นัดที่หน้าอกและศีรษะและยังใช้สันขวานทุบศีรษะผู้ตายอีกโดยกระทำไปด้วยความโกรธ พฤติการณ์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิตามกฎหมาย เพราะภยันตรายที่จำเลยได้รับผ่านพ้นไปแล้ว และไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอีก แต่การที่ผู้ตายด่าว่าจำเลยดังกล่าวแล้วและเอาปืนมาจ้องจะยิงจำเลย ข่มเหงจำเลยทั้งๆ ที่จำเลยหลบไปข้างประตู ผู้ตายยังถือปืนตามไปจ้องจะยิงจำเลยอีกจำเลยแย่งปืนได้ จึงใช้ปืนนั้นยิงและใช้ขวานทุบผู้ตายดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะมิได้ยกเหตุนี้ขึ้นต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้ปืนลูกซองและขวานเป็นอาวุธยิงและตีนางวรรณดีศรีใจมูล โดยเจตนาฆ่า และนางวรรณดีถึงแก่ความตายสมเจตนาของจำเลยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ คืนปืนพร้อมกระสุนแก่นายจันทร์ผู้เป็นเจ้าของ และริบขวานกับปลอกกระสุนและหมอนกระสุนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ลดมาตราส่วนโทษเพราะอายุน้อย และลดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษแล้ว จำคุก ๘ ปี คืนปืนพร้อมกระสุนแก่นายจันทร์ ริบขวานกับปลอกและหมอนกระสุนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๖๙ลดมาตราส่วนโทษเพราะอายุน้อยแล้ว คงจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นบุตรนายอ้ายนางฟองพอจำเลยอายุ ๑๑ ปี นางฟองได้สามีใหม่ ส่วนนายอ้ายได้นางวรรณดีผู้ตายเป็นภรรยาและได้พาจำเลยมาอยู่ด้วย จนกระทั่งจำเลยอายุ ๑๔ ปีนายอ้ายตาย ผู้ตายได้นายจันทร์เป็นสามี จำเลยอยู่กับผู้ตายตลอดมาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๑๔ เวลาประมาณ ๗.๐๐ นาฬิกา นายจันทร์ออกจากบ้านไปลากไม้จำเลยอยู่บ้านกับผู้ตาย จำเลยขอเงินผู้ตาย ๑๐๐ บาทเพื่อเอาไปให้หมอเป็นค่ารักษาจำเลยเมื่อครั้งเป็นไข้ ผู้ตายไม่ให้และด่าจำเลยว่าลูกหมา ชาติหมา จำเลยพูดว่า แม่ว่าผมทำไมอย่างนี้ ผู้ตายขึ้นไปชั้นบนแล้วถือปืนลูกซองยาวลงมา และมีเข็มขัดบรรจุกระสุนปืนอยู่ในซองด้วย ผู้ตายยกปืนจ้องเล็งไปที่จำเลย จำเลยกระโดดหลบเข้าข้างประตู ผู้ตายเดินจ้องปืนเข้ามาใกล้จำเลยใช้มือซ้ายจับปากกระบอกปืนและใช้มือขวาจับด้ามขวานที่พิงอยู่ข้างประตูเหวี่ยงทางสันขวานไปที่ขมับซ้ายของผู้ตาย ผู้ตายปล่อยปืนล้มลงนอนหงาย จำเลยทิ้งขวานแล้วจับปืนของผู้ตายด้วยความโกรธยิงไปที่หน้าอกผู้ตาย ๑ นัดผู้ตายดิ้น จำเลยหักเอาปลอกกระสุนออกแล้วเอากระสุนในเข็มขัดปืนที่เอวผู้ตายมาบรรจุและยิงไปที่ศีรษะผู้ตายอีก ๑ นัดผู้ตายยังดิ้นอยู่จึงหักเอาปลอกกระสุนออกแล้วบรรจุใหม่แต่ไม่ยิงเปลี่ยนมาใช้ขวาน โดยใช้สันขวานทุบศีรษะผู้ตาย ๑ ที ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุนั่นเอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ตายใช้ปืนลูกซองยาวจ้องจะยิงจำเลยแล้วเกิดการแย่งปืนกัน และจำเลยเหวี่ยงสันขวานไปที่ขมับซ้ายของผู้ตายผู้ตายปล่อยปืนล้มลงนอนหงาย จำเลยแย่งปืนจากผู้ตายไว้ ขณะนั้นผู้ตายไม่มีอาวุธอะไรเลย และไม่มีโอกาสทำร้ายจำเลยได้อีกแล้วจำเลยยังใช้ปืนยิงผู้ตายถึง ๒ นัดที่หน้าอกและศีรษะ และยังใช้สันขวานทุบศีรษะผู้ตายอีก จำเลยกระทำลงไปด้วยความโกรธ ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์เช่นนี้จะฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิตามกฎหมายหาได้ไม่ เพราะภยันตรายที่จำเลยได้รับผ่านพ้นไปแล้วและไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอีก การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันตัวที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายผิดอยู่มากที่ด่าว่าจำเลยเป็นลูกหมา ชาติหมา แล้วขึ้นไปเอาปืนลูกซองจากชั้นบนลงมาเอาปืนจ้องจะยิงจำเลย ข่มเหงจำเลยทั้ง ๆ ที่จำเลยหลบไปข้างประตู ผู้ตายยังถือปืนตามไปจ้องจะยิงจำเลยอีก จำเลยแย่งปืนจากผู้ตายได้ ผู้ตายล้มลงนอนหงาย จำเลยใช้ปืนนั้นยิงผู้ตายและใช้ขวานทุบผู้ตาย เช่นนี้ เห็นได้ว่าจำเลยได้กระทำร้ายต่อผู้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดติดกัน ถือได้ว่าจำเลยกระทำลงไปโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้แม้จำเลยจะมิได้ยกเหตุนี้ขึ้นต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share