คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 430ถึง 33 แสดงให้เห็นว่า”ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหาร” ย่อมออกคำสั่งหรือข้อบังคับให้ใช้บังคับทหาร เช่นกฎหมายของเขาเหล่านั้นได้ ปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนคดีอาญาของฝ่ายทหารศาลต้องพิจารณาแปลความหมายในบรรดาคำสั่งหรือข้อบังคับของฝ่ายทหารประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อบังคับทหารที่ 9/10909/2477 ว่าด้วยระเบียบจัดการทางคดีไม่มีข้อความใดที่บังคับว่าการไต่สวนคดีที่เกิดนอกกรุงเทพที่จะให้ศาลทหารพิจารณานั้น บุคคลอื่นนอกจากอัยการจะกระทำไม่ได้ คำว่า “ไต่สวน” ในข้อบังคับนั้นมุ่งหมายเพียงแต่ว่าจะให้ใครไต่สวนได้ เพราะการฟ้องร้องในสมัยก่อนใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่จำต้องมีการไต่สวนมาก่อน การดำเนินคดีในกรณีที่ทหารเป็นผู้ต้องหาเป็นเรื่องกึ่งวินัยกึ่งอาญาแผ่นดิน การสอบสวนที่ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 2 สั่งตั้งกรรมการสอบสวนโดยมิได้สั่งให้อัยการในหน่วยทหารนอกกรุงเทพเป็นผู้สอบสวนตามข้อบังคับนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายเพื่อฟ้องคดีต่อศาลทหารแล้ว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 หมายความเพียงว่ากฎหมายต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าตนต้องถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใดอันเป็นประธาน มิได้หมายความว่าต้องแจ้งกะทงความผิดทุกกระทง เช่นแจ้งข้อหาฐานลักทรัพย์ ปรากฏว่าผู้ต้องหาทำลายตราและไม่ทำตามข้อบังคับด้วยในการลักทรัพย์นั้น โจทก์ย่อมฟ้องฐานรวมไปได้ทุกฐาน ฎีกา 99/81 เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องฐานอื่นเพิ่มเติมโดยปรากฏขึ้นในการพิจารณาของศาลหาได้อาศัยจากการสอบสวนไม่ จึงฟ้องไม่ได้เพราะไม่มีการสอบสวน

Share