แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตของวัดที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงตามสัญญาตกลงร่วมหุ้นออกไปภายใน 40 วัน นับแต่วันทำหนังสือนั้น เมื่อตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (2) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี และมาตรา 40 บัญญัติว่า ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น เมื่อวัดเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันบุคคลบุคคลธรรมดา กำแพงวัดเป็นเพียงศาสนสมบัติของวัดซึ่งเจ้าอาวาสมีอำนาจจัดการก่อสร้างหรือรื้อถอนเพื่อประโยชน์ของวัดได้ หากจำเลยสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสเพื่อขอรื้อถอนกำแพงวัดและทางวัดยินยอม จำเลยย่อมสามารถรื้อถอนกำแพงวัดได้ การที่จำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์เนื่องจากจำเลยเห็นว่าตนสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสได้ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่เป็นโมฆะ
ตามหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นมีข้อความว่า “เมื่อผู้ร่วมหุ้นที่ 2(จำเลย) ทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดที่ดินที่จะซื้อขายภายใน 40 วัน นับตั้งแต่วันทำสัญญาฉบับนี้” แม้จะไม่มีข้อความใดระบุว่าให้จำเลยรื้อถอนจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อถ้อยคำในสัญญาระบุชัดแจ้งแล้วว่าให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนด ย่อมแสดงว่าจำเลยต้องรื้อถอนกำแพงด้านทิศตะวันออกทั้งหมด จำเลยรื้อถอนกำแพงออกไป6 ช่องแล้วถูกดำเนินคดี จึงก่อสร้างกำแพงกลับสู่สภาพเดิม 5 ช่อง คงเหลือส่วนที่จำเลยทุกออก 1 ช่อง และส่วนที่ผู้อื่นทุบออก 1 ช่อง ถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถรื้อถอนกำแพงออกไปหมดตามสัญญาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2534 โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญากันว่า ถ้าจำเลยสามารถติดต่อให้โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 จากนาวาอากาศตรีวัชรเดช เนตรศิริ ได้แล้ว และหากจำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตด้านที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกไปได้ภายใน 40 วัน นับแต่วันทำสัญญาโจทก์ยินยอมให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 2,210,000 บาท แต่ถ้าจำเลยไม่สามารถจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปได้ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกัน จำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวน 2,210,000 บาท จากโจทก์ ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม2534 จำเลยได้ติดต่อให้โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนาวาอากาศตรีวัชรเดช แก่ก่อนที่จะจดทะเบียนซื้อขายให้ โจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันเปลี่ยนค่าตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากโจทก์เป็นเงิน 2,210,000 บาท เป็นว่าให้จำเลยเข้าร่วมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ซื้อขายโดยให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 353.6 ส่วน และให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยจำนวน 88.4 ส่วน ซึ่งที่ดินทั้งแปลงแบ่งออกเป็น 442 ส่วน และโจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันได้ตกลงกันอีกว่าถ้าจำเลยไม่สามารถจัดการให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปภายในเวลา 40 วัน นับแต่วันทำหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นจำเลยยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินได้ และในวันที่ 30 ตุลาคม 2534 นั้นเองได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากนาวาอาการตรีวัชรเดชมาเป็นของโจทก์กับจำเลยในอัตราส่วนตามที่ได้ตกลงกันแต่ต่อมาปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด 40 วัน จำเลยไม่สามารถจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกไปได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์จำเลยจึงต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของจำเลยคืนให้แก่โจทก์โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ จากโจทก์ โจทก์บอกกล่าวเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว แต่จำเลยเรียกร้องเงินจากโจทก์จำนวน 842,000 บาท โดยจำเลยตกลงว่าจะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์โดยจะไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ จากโจทก์อีก แต่ภายหลังที่จำเลยรับเงินจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2534 นายเทียม กังกังวาน บิดาโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 เนื้อที่ดิน 1 ไร่ 42 ตารางวา จากจำเลยในราคา 8,840,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันภายใน 20 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 30 ตุลาคม 2534 โดยวางเงินมัดจำไว้แก่จำเลยเป็นเงิน 500,000 บาท มีข้อตกลงกันว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายยินยอมให้ผู้จะซื้อนำนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นมาเป็นคู่สัญญากับผู้จะขายได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้จะขายทราบล่วงหน้าต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2534 บิดาโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยจำนวน 5,730,000 บาทส่วนจำนวนเงินราคาที่ดินอีก 2,610,000 บาท บิดาโจทก์ไม่สามารถชำระในเวลานั้นได้ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกันเป็นว่า ให้จำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินแปลงนี้จำนวนเนื้อที่ร้อยละ 20 ซึ่งคิดเป็นส่วนของที่ดินเท่ากับ 88.4 ส่วนของจำนวนเนื้อที่ทั้งหมด 442 ส่วน ซึ่งคิดเป็นราคาที่ดินส่วนของจำเลย 1,768,000 บาท และบิดาโจทก์ยังจะต้องชำระเงินราคาที่ดินให้แก่จำเลยอีก 842,000 บาท เมื่อตกลงกันดังกล่าวแล้วบิดาโจทก์จึงให้โจทก์เข้าทำสัญญาตกลงร่วมหุ้นกับจำเลย โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทรัพย์สินของวัดบางสะแกใน หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้โจทก์มีสิทธิฟ้องร้องให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดิน และจำเลยจะไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 2,210,000 บาท เมื่อตกลงทำสัญญากันดังกล่าวแล้วจึงได้มีการจดทะเบียนลงชื่อในโฉนดที่ดินโดยจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมจำนวน 88.4 ส่วน ส่วนของบิดาโจทก์ได้ให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินแทนจำนวน 353.6 ส่วนและต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2534 ฝ่ายโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินในส่วนที่ยังค้างชำระให้แก่จำเลยอีก 842,000 บาท ข้อสัญญาที่ตกลงกันให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของที่ดินออกไปภายใน 40 วันนับแต่วันทำสัญญาตกลงร่วมหุ้นกันตามที่โจทก์ระบุในฟ้องนั้นเป็นโมฆะเนื่องจากกำแพงที่ให้จำเลยรื้อถอนนั้นเป็นกำแพงของวัดบางสะแกใน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการทำให้เสียทรัพย์ของบุคคลภายนอกเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นข้อตกลงที่ไม่อาจบังคับได้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาได้ แต่จำเลยได้ติดต่อกับวัดบางสะแกในซึ่งคณะกรรมการวัดได้พิจารณาถึงประโยชน์จากการที่จะขยายทางให้แก่ประชาชนใช้สัญจรได้สะดวกขึ้น วัดบางสะแกในได้อนุญาตให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงในส่วนที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินแปลงดังกล่าวได้จำเลยได้จัดการรื้อถอนกำแพงตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงไว้กับโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2534 นายทียม วังกังวานบิดาโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28775 ตำบลตลาดพลู (บางสะแก) อำเภอธนบุรี (บางกอกใหญ่) กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน8,840,000 บาท ในวันทำสัญญาวางมัดจำ 500,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระภายใน 20 วันต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2534 นาวาอากาศตรีวัชรเดช เนตรศิริเจ้าของที่ดินเดิมได้โอนขายที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลย และในวันเดียวกันโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนบรรยายส่วน โดยแบ่งที่ดินเป็น 442 ส่วน เป็นของโจทก์ 353.6 ส่วน เป็นของจำเลย88.4 ส่วนและในวันเดียวกันนั้น โจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นลงวันที่ 30 ตุลาคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.2 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยในข้อหาทำลายรั้วคอนกรีตของวัดบางสะแกใน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าข้อสัญญาที่ว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงดังกล่าวออกไปภายใน 40 วัน นับแต่วันทำหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (2) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้(1) บำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี และมาตรา 40 บัญญัติว่าศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อวัดเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดากำแพงวัดเป็นเพียงศาสนสมบัติของวัด เจ้าอาวาสมีอำนาจจัดการก่อสร้างหรือรื้อถอนเพื่อประโยชน์ของวัดได้ หากจำเลยสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสเพื่อขอรื้อถอนกำแพงวัดและทางวัดยินยอม จำเลยย่อมสามารถรื้อถอนกำแพงได้ การที่จำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์เนื่องจากจำเลยเห็นว่าตนสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ตามสัญญาที่ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกไปภายใน40 วัน ไม่มีข้อความใดระบุว่าให้รื้อถอนมากน้อยเพียงใด การที่จำเลยได้ทุบกำแพงเป็นจำนวน 2 ช่อง ภายในกำหนดเวลาตามข้อตกลงแล้วจำเลยจึงไม่ผิดสัญญานั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้น เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 มีข้อความว่าเมื่อผู้ร่วมหุ้นที่ 2 (จำเลย) ทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดที่ดินที่จะซื้อขายภายใน 40 วัน นับตั้งแต่วันทำสัญญาฉบับนี้” ไม่มีข้อความระบุว่าให้จำเลยรื้อถอนจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำในสัญญาระบุชัดแจ้งแล้วว่าให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดแสดงว่าจำเลยต้องรื้อถอนกำแพงด้านทิศตะวันออกทั้งหมด ดังนั้น การที่จำเลยรื้อถอนกำแพงออกไป 6 ช่อง แล้วถูกดำเนินคดี จึงก่อสร้างกำแพงกลับสู่สภาพเดิม 5 ช่อง คงเหลือส่วนที่จำเลยทุบออก 1 ช่อง และส่วนที่ผู้อื่นทุบออก 1 ช่อง ถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถรื้อถอนกำแพงออกไปหมดไปตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
พิพากษายืน