คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“ข้าราชการ” หมายถึง บุคคลซึ่งรับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือน ข้าราชการทหารจึงเป็นข้าราชการ
ตำแหน่งใดเป็นข้าราชการทหารต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 และ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 เท่านั้น
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ข้าราชการทหาร” หมายความว่า ทหารประจำการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร ส่วนคำว่า “ทหารประจำการ” พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4 (8) ให้ความหมายว่า หมายถึง ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ โดย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 ให้ความหมาย “ทหารกองประจำการ” ว่าหมายถึง ทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4 (3) “ทหารกองประจำการ” หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด ฉะนั้น ทหารกองประจำการจึงไม่ใช่ทหารประจำการ ไม่ใช่ข้าราชการทหาร และไม่ได้เป็นข้าราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521
จำเลยที่ 2 เป็นทหารกองประจำการ จึงไม่เป็นข้าราชการ ระวางโทษเป็นสามเท่าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 ในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจึงใช้กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๕๗, ๖๖, ๙๑, ๑๐๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ และให้นำโทษของจำเลยที่ ๒ ที่รอการลงโทษไว้บอกเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและจำเลยที่ ๒ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง โดยระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา ๑๐๐
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการอันจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ หรือไม่ เห็นว่า “ข้าราชการ” หมายถึง บุคคลซึ่งรับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือนข้าราชการทหารจึงเป็นข้าราชการด้วย อย่างไรเป็นข้าราชการทหารต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ เท่านั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ข้าราชการทหาร” หมายความว่า ทหารประจำการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร ส่วนคำว่า “ทหารประจำการ” พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔ (๘) ให้ความหมายว่า หมายถึง ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ ให้ความหมาย “ทหารกองประจำการ” ว่า หมายถึง ทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔ (๓) “ทหารกองประจำการ” หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด ฉะนั้น ทหารกองประจำการจึงไม่ใช่ทหารประจำการ ไม่ใช่ข้าราชการทหารและไม่ได้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๒ เป็นทหารกองประจำการ จึงไม่เป็นข้าราชการ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ระวางโทษจำเลยที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ ในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเป็นสามเท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้ระวางโทษจำเลยที่ ๒ เป็นสามเท่าสำหรับความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ ให้ยก คงลงโทษจำเลยที่ ๒ สำหรับความผิดฐานดังกล่าวจำคุก ๕ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในความครอบครอง ฐานเสพยาเสพติดให้โทษและบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้แล้ว คงจำคุก ๗ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share