คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้หนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์จะใช้หนี้ โจทก์จึงร้องขอให้แบ่งแยกสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คือ ที่ดิน 2 แปลงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ได้ร้องคัดค้านเข้ามาว่า จำเลยทั้งสองได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากินแล้ว และว่าที่ดิน 2 แปลง ที่ โจทก์ขอให้แบ่งแยกออกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ได้รับแบ่งในการหย่าขาดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งแยกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองได้หย่าขาดกันจริงโดยสุจริต และได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์สินกันเด็ดขาดแล้ว ที่ดิน 2 แปลงที่โจทก์ขอให้แบ่งแยกสินบริคณห์เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 ได้รับแบ่งมาจากการหย่า เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ภายหลังการหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์กันแล้ว จึงไม่มีสิทธิขอแยกสินบริคณห์ ให้ยกคำร้องคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น โจทก์มาฟ้องคดีหลังขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในที่ดินสองแปลงที่จำเลยที่ 2 ได้รับแบ่งไปจากจำเลยที่ 1 อีกได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะประเด็นแห่งคดีต่างกันโดยในคดีแรกนี้มีประเด็นว่าจำเลยทั้งสองได้หย่าขาดจากสามีภริยาและแบ่งทรัพย์สินกันไปแล้ว จริงหรือไม่ ส่วนในคดีหลังมีประเด็นว่าจำเลยได้กระทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่

ย่อยาว

เรื่องเดิมมีอยู่ว่า ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้หนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์จะใช้หนี้ โจทก์จึงร้องขอให้แบ่งแยกสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คือที่ดินสองแปลงที่ทุ่งมหาเมฆ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ได้ร้องคัดค้านเข้ามาว่า จำเลยทั้งสองได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว ที่ดิน 2 แปลงที่โจทก์ขอให้แบ่งแยกออกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ได้รับแบ่งในการหย่าขาดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งแยกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองได้หย่าขาดกันจริงโดยสุจริตและได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์สินกันเด็ดขาดแล้ว ที่ดิน2 แปลงที่โจทก์ขอให้แบ่งแยกสินบริคณห์เป็นส่วนของจำเลยนั้นเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 ได้รับแบ่งมาจากการหย่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ภายหลังการหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์กัน จึงไม่มีสิทธิขอแยกสินบริคณห์ ให้ยกคำร้องคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในที่ดินสองแปลงที่จำเลยที่ 2 ได้รับไป

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาว่า สัญญาแบ่งทรัพย์ระหว่างจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และจำเลยที่ 2 ก็ได้รู้อยู่แล้ว จึงให้เพิกถอนการแบ่งทรัพย์ระหว่างจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน เพราะในคดีก่อนโจทก์ร้องขอแบ่งสินบริคณห์ จำเลยอ้างว่าจำเลยได้หย่าขาดจากกันและแบ่งทรัพย์กันแล้ว โจทก์แถลงแก้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้หย่าขาดกันจริง หากแต่จดทะเบียนหย่าเป็นนิติกรรมอำพราง ป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ของจำเลยยึดสินบริคณห์ ศาลแพ่งชี้ขาดว่าหย่ากันจริงและแบ่งทรัพย์กันเด็ดขาดแล้ว คดียุติเพียงศาลแพ่ง ปัญหาว่าสัญญาแบ่งทรัพย์ได้กระทำโดยเจตนาลวงหรือไม่เป็นอันยุติ โจทก์มาฟ้องว่าสัญญาแบ่งทรัพย์ระหว่างจำเลยทำให้โจทก์เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลเพื่อผลอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำ จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า สัญญาแบ่งทรัพย์เป็นการฉ้อฉลหรือไม่ กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ประเด็นในชั้นศาลฎีกามีว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่โจทก์ร้องขอให้แบ่งแยกสินบริคณห์เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ถูกยกคำร้องไปแล้วหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงประเด็นในคดีทั้งสองนั้นว่า มีอยู่อย่างไร ในคดีที่โจทก์ร้องขอให้แบ่งแยกสินบริคณห์นั้น จำเลยที่ 2 ได้คัดค้านว่าจำเลยทั้งสองได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาและได้แบ่งทรัพย์สินกันเสร็จไปแล้ว ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยทั้งสองได้หย่าขาดจากสามีภริยาและแบ่งทรัพย์สินกันไปแล้วจริงหรือไม่ซึ่งศาลแพ่งก็ได้มีคำสั่งว่า ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันโดยสุจริตจริง และได้แบ่งทรัพย์สินกันเด็ดขาดไปแล้ว ส่วนประเด็นในคดีที่โจทก์ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนี้ คือ โจทก์กล่าวฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้รับแบ่งที่ดิน 2 แปลงไปคนเดียวเป็นการทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบโดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อฉลโจทก์ประเด็นจึงมีอยู่ว่า จำเลยได้กระทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ จึงเห็นว่าประเด็นในคดีเรื่องขอแบ่งแยกสินบริคณห์ กับคดีในเรื่องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่างกัน จึงถือไม่ได้ว่า คดีเรื่องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นฟ้องซ้ำกับคดีขอให้แบ่งแยกสินบริคณห์

ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

Share