แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ กำหนดให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้นหรือไม่ เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่งว่าแผนที่ผู้ทำแผนเสนอมานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
ในการพิจารณาปัญหาว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้แต่ละรายซึ่งมิได้ลงมติยอมรับแผนจะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ กับจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้การที่ทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีราคาประเมินเพียงใด จึงเป็นสาระสำคัญ
แม้ว่าการกำหนดหรือวินิจฉัยราคาประเมินทรัพย์สินของลูกหนี้แต่ละช่วงจะไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาในช่วงอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินโดยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ราคาประเมินย่อมแตกต่างกันได้ แต่คดีนี้มีการประเมินตีราคาทรัพย์สินในเวลาที่ต่างกันเพียงประมาณ 5 ถึง 6 เดือน ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในการประเมินมีราคาแตกต่างกันถึง 2,000 ล้านบาท กรณีจึงต้องมีเหตุอันสมควรและอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ทำแผนก็มิได้แสดงเหตุดังกล่าวโดยชัดแจ้ง การประเมินราคาครั้งหลังเพื่อจัดทำแผน จึงไม่มีน้ำหนัก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทสำนักงานกฎหมายฟาร์อิสท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ เพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความกำหนดวันนัดพิจารณาให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๖
ลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ ๕๒๘ ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า
ผู้ทำแผนได้เสนอวิธีการจัดสรรหนี้ที่ปรากฏรายละเอียดในแผนฟื้นฟูกิจการเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าหนี้กลุ่มอื่น ๆ ประกอบกันแต่อย่างใดและจากการเปรียบเทียบผลการรับชำระหนี้ไม่ว่าตามที่ผู้ทำแผนเสนอซึ่งจัดสรรไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือจัดให้ถูกต้องตามรายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายคำคัดค้านหมายเลข ๒ เมื่อเทียบผลการรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ภาษีอากรและเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๕ และที่ ๘ แล้ว จะเห็นว่าเจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แผนดังกล่าวมิได้ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายล้มละลายในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แผนฟื้นฟูกิจการเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้รายใหญ่รายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ ๖๖๙ ยื่นคำคัดค้านว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้กล่าวถึงการไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้ ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ และหากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวแล้วจะทำให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันอยู่ในกลุ่มที่ ๒ ได้รับชำระหนี้น้อยกว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงและขอให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า แผนมีรายการเกี่ยวกับการไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญา แผนจึงมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒ แผนได้กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี ที่เจ้าหนี้อ้างว่า เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้น้อยกว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เนื่องจากตัวเลขที่เจ้าหนี้นำมาคำนวณในกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลายเป็นราคาตลาด ซึ่งผิดหลักวิชาการประเมินราคาทรัพย์สิน ที่ถูกต้องจะต้องเป็นราคาบังคับขาย เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จเจ้าหนี้มีประกันและเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะได้รับชำระหนี้มากกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แผนจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๕๘ (๓) สำหรับข้อคัดค้านอื่น ๆ ของลูกหนี้และผู้คัดค้านนอกจากนี้ไม่ใช่ข้อคัดค้านที่ศาลจะมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน แผนจึงชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๕๘ ทุกประการแล้ว
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘
ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ และลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำร้องว่า ไม่ประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของศาลล้มละลายกลางอีกต่อไป ขอถอนอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ถอนอุทธรณ์ได้
ลูกหนี้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ ขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ว่า ผู้ทำแผนได้เสนอวิธีการจัดสรรชำระหนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้อื่นหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยได้กำหนดราคาทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งในส่วนราคาบังคับขายและราคาตลาดต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงของทรัพย์สินอย่างมาก การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ เป็นเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันและมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อราคาทรัพย์สินของลูกหนี้ถูกกำหนดไว้ในราคาที่ต่ำก็เท่ากับเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ จะได้รับชำระหนี้เป็นทรัพย์สินในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นผลให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้อื่น ๆ เสียเปรียบ แผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ มาตรา ๙๐/๕๘ (๓)
ผู้ทำแผนแถลงคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองว่า เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ที่ลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ ๑ อุทธรณ์ว่า แผนฟื้นฟูกิจการได้เสนอวิธีการจัดสรรชำระหนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าหนี้กลุ่มอื่น ๆ ประกอบแต่อย่างใด ทำให้แผนฟื้นฟูกิจการบกพร่องในสาระสำคัญขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ (๓) นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ กำหนดให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้นหรือไม่ เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่งว่าแผนที่ผู้ทำแผนเสนอมานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่า แผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในการพิจารณาปัญหาว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้แต่ละรายซึ่งมิได้ลงมติยอมรับแผนจะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ กับจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้การที่ทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีราคาประเมินเพียงใด จึงเป็นสาระสำคัญ
คดีนี้ผู้ร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ระบุในคำร้องขอว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ดินพร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้างในโครงการต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด มูลค่า ๓,๘๐๙,๘๑๕,๓๒๖.๕๐ บาท สังหาริมทรัพย์ได้แก่หลักทรัพย์ ๑๙๒,๙๙๙ บาท เงินฝากธนาคารประเภทมีเงื่อนไข ๔๓๙,๔๗๒.๖๓ บาท เงินสด ๔๓,๓๔๕.๘๙ บาท และทรัพย์สินอื่น ๆ ๓๔๙,๗๐๓,๒๔๖.๗๘ บาท ซึ่งรวมแล้วเป็นเงิน ๔,๑๖๐,๑๙๔,๓๙๐.๘๐ บาท และในคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ระบุว่านายธีระพันธ์ เพ็ชรสุวรรณ พยานผู้ร้องขอเบิกความว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์ประมาณ ๔,๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลูกหนี้มีนายปัญญา สุวรรณไพรพัฒนะ ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินราคาประเมินรวม ๔,๓๖๖,๙๑๒,๐๐๐ บาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวคำนวณมูลค่าตามราคาตลาดเป็นเงิน ๙,๔๖๙,๒๕๐,๐๐๐ บาท และนางพันธุ์ทิพย์ ศรีสุรินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินราคาของบริษัทไทยประเมินราคาไวเกอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น ๔,๓๖๖,๙๐๘,๐๐๐ บาท เช่นนี้ในชั้นไต่สวนคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจึงรับฟังได้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินราคาประเมินไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่าในขั้นตอนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยให้บริษัทชาร์เตอร์ พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ประเมินราคาปรากฏว่าทรัพย์สินของลูกหนี้มีราคาตลาดเพียง ๒,๑๒๕,๒๘๓,๐๐๐ บาท แม้ว่าการกำหนดหรือวินิจฉัยราคาประเมินทรัพย์สินของลูกหนี้แต่ละช่วงจะไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาในช่วงอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินโดยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ราคาประเมินย่อมแตกต่างกันได้ แต่ในคดีนี้มีการประเมินตีราคาทรัพย์สินในเวลาที่ต่างกันเพียงประมาณ ๕ ถึง ๖ เดือน ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็เป็นที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในการประเมินมีราคาแตกต่างกันถึงประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท กรณีจึงต้องมีเหตุอันสมควรและอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ทำแผนก็มิได้แสดงถึงเหตุดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง การประเมินราคาครั้งหลังเพื่อจัดทำแผนจึงไม่มีน้ำหนัก เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินต่ำลงมาก ย่อมทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ส่วนใหญ่จะต้องนำไปชำระตีใช้หนี้แก่เจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีผู้ร้องขอเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในราคาต่ำ หนี้ลดลงเพียงจำนวนน้อย หนี้ส่วนที่ขาดอยู่ย่อมมีจำนวนที่สูงขึ้น เมื่อนำหนี้ส่วนที่ไม่มีประกันส่วนนี้ไปจัดสรรเพื่อชำระหนี้ย่อมส่งผลให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ได้รับชำระหนี้น้อยลง เจ้าหนี้อื่นย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการตีราคาทรัพย์สิน
ดังนั้น เมื่อมีเหตุข้อสงสัยเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งใช้ในการจัดทำแผน ถือได้ว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏผู้ทำแผนยังแสดงไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ (๓)
เมื่อฟังไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมีพฤติการณ์แสดงว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดทำขึ้นโดยมุ่งแต่ประโยชน์ของผู้ร้องขอ ไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น การที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่นในอันที่จะได้รับชำระหนี้อย่างน้อยเท่ากับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ ๑ ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ วรรคสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.