คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาขายบ้านเลขที่ 281 พร้อมที่ดิน 16 ตารางวา แก่โจทก์จริง แต่ที่ดินเป็นที่สาธารณะอยู่ในความครอบครองของเทศบาล ได้บอกโจทก์ให้ทราบแล้ว.
ดังนี้ แม้สัญญาดังกล่าวจะทำเป็นหนังสือจำเลยก็อาจนำสืบได้ เพราะว่าถ้าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะจริง ศาลก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ไปโอนให้แก่โจทก์ได้ การสืบดังนี้หาเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารไม่ แต่เป็นการสืบให้เห็นว่าหนี้นั้นบังคับไม่ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ. แพ่ง มาตรา 94.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาขายบ้านเลขที่ ๒๘๑ อำเภอป้อมปราบ จังหวัดพระนคร พร้อมกับที่ดิน ไม่มีโฉนด ๑๖ ตารางวา ซึ่งจำเลยครอบครองมา ๒๐ ปีเศษ เป็นราคา ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยได้มอบบ้านเรือนกับที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองในวันทำสัญญา จำเลยมอบฉันทะให้ไปจดทะเบียนซื้อขาย แต่ใบมอบใช้ไม่ได้ โจทก์เตือนจำเลยผลัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาจำเลยสมยอมกับนางสาวขุณห์หงศ์ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลรับว่าเรือนที่ขายให้โจทก์รุกล้ำที่ดินของ น.ส.ชุณห์หงส์ แล้วยอมรื้อถอนไป โจทก์จึงฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยไปทำสัญญาจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาท
จำเลยรับว่า ทำสัญญาตามฟ้องจริง แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะโจทก์ก็รู้ จำเลยทำสัญญายอมความกับ น.ส. ชุณห์หงส์โดยสุจริต
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การว่าโจทก์ยังชำระเงินให้ไม่หมด ขอสงวนสิทธิว่ากล่าวกับโจทก์ในข้อนี้ต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ
จำเลยจะขอสืบพยานในประเด็นข้อที่ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่เป็นที่สาธารณะอยู่ในความดูแลของเทศบาล
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่จำเลยจะขอสืบพยานว่าเป็นที่สาธารณะนั้น เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาสืบไม่ได้ และเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว สั่งงดสืบพยาน และพิพากษาให้จำเลยไปทำสัญญาจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและบ้านตามโจทก์ฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน.
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่จำเลยจะขอสืบพยานว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะอยู่ในความดูแลของเทศบาลและไดบอกให้โจทก์ทราบมาก่อนนั้น จำเลยอาจนำสืบได้เพราะว่าถ้าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะอันอยู่ในครอบครองของเทศบาลจริง ศาลก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ไปโอนให้แก่โจทก์ได้ การสืบดังนี้หาเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่ แต่เป็นการสืบให้เห็นว่าหนี้นั้นบังคับไม่ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพงมาตรา ๙๔ ฯลฯ
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลขั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสีย ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share