คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินสะสมที่จำเลยจ่ายให้โจทก์มีหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ จึงเป็นเงินคนละประเภทกับค่าชดเชยแม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยเงินทุนสะสม ฯ จะกำหนดว่าเงินสะสมที่โจทก์ได้รับมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยก็ไม่มีผลบังคับ เพราะขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีผลบังคับเป็นกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,450 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2522 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย20,700 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ติดค้างค่าชดเชย บริษัทจำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยเงินสะสมสำหรับพนักงานชาวเอเชีย พ.ศ. 2519 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งสัญญาจ้างทำงานใช้บังคับอยู่ และพนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์เป็นสมาชิกอยู่ภายใต้ข้อบังคับนี้ ตามข้อบังคับดังกล่าวจำเลยจะนำเงินเข้าฝากในบัญชียกให้ ซึ่งเปิดไว้ในชื่อของสมาชิกเงินทุนสะสมเป็นรายบุคคลณ ธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละเจ็ดของเงินเดือนมูลฐานและจำเลยจะคืนเงินทุนสะสมให้แก่สมาชิกทุกคนเมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลงคือออกจากงาน แต่เงินผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับจากกองทุนเงินสะสมนั้นจะต้องหักเงินค่ชดเชยหรือเงินอื่นใดที่คล้ายกันซึ่งบริษัทอาจต้องจ่ายให้ตามผลของกฎหมาย คำสั่ง ประกาศ หรือมติของรัฐบาล ดังนั้นเงินทุนสะสมที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่พนักงานซึ่งเป็นสมาชิก จึงเป็นเงินตอบแทนความชอบที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานที่เป็นสมาชิกทุกคนในฐานะที่ทำงานมาด้วยดีเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งตากหากจากค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่ถ้าเงินกองทุนสะสมของสมาชิกใดน้อยกว่าค่าชดเชยตามกฎหมาย จำเลยก็จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายและจะไม่จ่ายเงินกองทุนสะสมซ้ำอีก สำหรับโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนสะสมและค่าชดเชยรวมกันเป็นเงิน 48,532 บาท ซึ่งจำเลยได้จ่ายเงินสองจำนวนนี้ให้โจทก์รับไปครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2522โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยซ้ำอีก ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณา โจทก์รับว่าข้อบังคับว่าด้วยเงินทุนสะสมตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารที่มีอยู่จริงและถูกต้องและรับว่าเงินที่โจทก์รับตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นเงินสะสมที่จำเลยนำเข้าบัญชียกให้แต่ฝ่ายเดียว ส่วนเงินสะสมตามระเบียบเดิมโจทก์ได้รับคืนจากจำเลยไปครบถ้วนแล้วก่อนที่โจทก์จะออกจากงานเพราะเกษียณอายุ

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินสะสมตามข้อบังคับหมาย ล.1ไม่ใช่ค่าชดเชยแต่เป็นเงินประเภทอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 20,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 มีหลักเกณฑ์โดยย่อว่า พนักงานทุกคนที่มีเงินเดือน ๆ ละ 750 บาทขึ้นไปหรือคนงานค่าจ้างรายวันที่มีค่าจ้างสัปดาห์ละ 150 บาท ขึ้นไปต้องเป็นสมาชิกทันทีที่ทำงานกับบริษัทจำเลยเป็นเวลาต่อเนื่องกันครบ 1 ปี ทุก ๆ เดือนบริษัทจะนำเงินเข้าฝากในบัญชียกให้ซึ่งเปิดไว้ในชื่อของสมาชิกเงินทุนสะสมเป็นรายบุคคลในธนาคารแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นจำนวนเงินเท่ากับร้อยละเจ็ดของเงินเดือนมูลฐานปัจจุบันสมาชิกที่ทำงานกับบริษัทเป็นเวลาต่อเนื่องกันไม่ครบ 4 ปี ไม่มีสิทธิรับเงินที่อยู่ในบัญชียกให้ เงินนั้นต้องคืนให้บริษัทถ้าทำงานครบ 4 ปี มีสิทธิได้รับเงินร้อยละห้าสิบ ยอดเงินคงเหลือต้องคืนให้บริษัท แต่ถ้าทำงานครบ 8 ปี สมาชิกจะได้รับเงินทั้งหมดในบัญชียกให้ เมื่อสมาชิกสภาพสิ้นสุดลง ซึ่งรวมทั้งการลาออกเลิกจ้างหรือตาย หากทำงานครบกำหนดเวลาข้างต้น สมาชิกหรือทายาทของสมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสม ลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือทายาทไม่มีสิทธิรับเงินสะสมนี้ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยนั้นจ่ายให้ในกรณีเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เท่านั้น ไม่จ่ายให้กรณีลูกจ้างลาออกหรือตายและลูกจ้างทำงานติดต่อกันอย่างน้อยหนึ่งร้อยยี่สิบวันไม่ต้องครบ 4 ปี ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้ว นอกจากนี้ในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยไม่มีหลักเกณฑ์ว่าลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเท่าใด จึงจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินสะสมที่จำเลยจ่ายให้โจทก์จึงเป็นเงินคนละประเภทกับค่าชดเชย แม้เอกสารหมาย ล.1ข้อ 21 จะมีข้อความว่า เงินสะสมตามเอกสารดังกล่าวมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยก็ไม่มีผลบังคับเพราะขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งมีผลบังคับเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้แม้โจทก์จะได้รับเงินสะสมจากจำเลยแล้วก็ยังไม่หมดสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยอีก

พิพากษายืน

Share