แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ กับการกระทำโดยบันดาลโทสะเป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบความผิดต่างกันกล่าวคือ หากเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ไม่เข้าองค์ประกอบของอีกอย่างหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดพร้าฟันนายปลอบ ปานสงค์ ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
ชั้นแรกจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังสืบพยานโจทก์ได้เล็กน้อยขอให้การใหม่โดยขอรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาพยานโจทก์ประกอบฟ้องซึ่งได้ความว่าผู้ตายท้าทายยั่วโทสะจำเลยก่อน และยังได้ใช้มีดพร้าจะฟันจำเลย แต่ถูกจำเลยแย่งไปได้ แล้วยังใช้มีดพกจะแทงอีก จำเลยจึงใช้มีดพร้าฟันผู้ตายล้มลงไป และด้วยโทสะรุนแรงได้ฟันซ้ำลงไปอีก เห็นว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันตัว แต่เกินสมควรแก่เหตุ และโดยถูกยั่วโทสะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม มาตรา 288 ประกอบด้วย มาตรา 69 และ 72 ให้จำคุก 3 ปี ลดโทษฐานรับสารภาพกึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้ 1 ปี 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ เพราะโจทก์ฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้ว แต่เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ และโดยบันดาลโทสะด้วยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำทั้งสองอย่างนี้ต่างกัน หากกระทำโดยบันดาลโทสะก็ไม่ใช่เรื่องป้องกันตัว หรือ กลับกันฉันนั้นและเห็นว่าจำเลยกระทำการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบกับมาตรา 69 ส่วนกำหนดโทษให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์