แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เคยถูกจำเลยลงโทษทางวินัยไล่ออกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 ต่อมาโจทก์เปลี่ยนชื่อแล้วกลับมาสมัครงานกับจำเลยอีกครั้งในวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 จำเลยมีคำสั่งรับโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 ซึ่งตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2522 ที่ใช้อยู่เดิมในขณะที่โจทก์สมัครงานและระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2532 ซึ่งประกาศใช้ในขณะที่จำเลยมีคำสั่งรับโจทก์เข้าทำงานระบุให้การถูกไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจเป็นการขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานของจำเลย ต่อมาจำเลยได้รับหนังสือร้องเรียนจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วพบว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันสมัครงานดังกล่าว จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อปี 2547 หลังจากที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งผลของ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 มีได้เฉพาะสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น ดังนั้น แม้ขณะที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ขณะโจทก์เข้าทำงานเมื่อปี 2532 โจทก์เป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2522 และระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2532 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์ขาดคุณสมบัติได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและให้จำเลยชำระค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,460 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2548 จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้ล้างมลทินแก่ผู้ถูกลงโทษทางวินัยที่ได้กระทำก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 จึงถือว่าโจทก์ไม่เคยถูกลงโทษไล่ออกมาก่อน จำเลยจึงไม่อาจเลิกจ้างเพราะโจทก์ขาดคุณสมบัติ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 ว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ในปี 2528 โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยในตำแหน่งพนักงานบริกร กองการเดินรถปรับอากาศ ต่อมาในปี 2529 จำเลยมอบหมายให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถสายกรุงเทพฯ – นครปฐม กองการเดินรถภาคใต้ วันที่ 17 กรกฎาคม 2530 โจทก์เรียกเก็บเงินค่าโดยสารแล้วไม่ฉีกตั๋วให้ครบราคา และได้นำตั๋วเก่าที่ได้จำหน่ายแล้วกลับมาจำหน่ายซ้ำอีก จำเลยสอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์กระทำส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2522 จึงมีคำสั่งบริษัทขนส่ง จำกัด ที่ 841/2530 ไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2530 ต่อมาโจทก์ได้เปลี่ยนชื่อจาก”นรินทร์” เป็น “ชัยรัตน์” แล้วสมัครเข้าเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โดยไม่แจ้งรายละเอียดที่เคยถูกไล่ออกไว้ในใบสมัครงานให้จำเลยทราบ จำเลยจึงมีคำสั่งบริษัทขนส่ง จำกัด ที่ 916/2532 เรื่อง จ้างพนักงานบริการประจำรถ (ชาย) จ้างโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 ในปี 2545 นายหลำได้มีหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยสอบสวนโจทก์กรณีที่เคยถูกไล่ออกจากงานแล้ว แต่ได้เปลี่ยนชื่อและกลับมาสมัครเข้าเป็นพนักงานอีก แล้วเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานตั้งแต่ปี 2532 แม้ในปี 2539 จะมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ก็เป็นการบัญญัติภายหลังที่โจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานตั้งแต่วันสมัครเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีคำสั่งบริษัทขนส่ง จำกัด ที่ ก. 534/2547 ให้โจทก์ออกจากงานฐานเป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2532 ข้อ 6 (12)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานของจำเลยตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2522 และระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2532 ได้หรือไม่ เห็นว่า ผลของพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มีได้เฉพาะสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น ดังนั้น แม้ขณะที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 จะมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ขณะโจทก์เข้าทำงานเมื่อปี 2532 โจทก์เป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2522 และระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2532 จำเลยก็สามารถเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง