แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตน จากตัวการ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้อง ใช้ อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 การซื้อ ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีวัตถุประสงค์เก็ง กำไรจากการขึ้นลงของราคาหุ้นมากกว่าประสงค์ให้มีการโอนใบหุ้นใส่ชื่อ ผู้ซื้อดังนั้น การโอนหุ้นในกรณีนี้จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 1129.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดในเครือเดียวกันร่วมกันประกอบธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2522 โจทก์ฝากเงินจำเลยที่ 1จำนวน 438,095.89 บาท จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2522 จะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปีให้โจทก์ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2523จำเลยทั้งสองได้ตกลงรับโจทก์เป็นลูกค้าเพื่อทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยให้โจทก์สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้จำเลยทั้งสองเป็นหลักประกัน และจำเลยที่ 2จะเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ให้โจทก์ตามคำสั่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งของโจทก์ได้ กลับแจ้งเท็จต่อโจทก์ว่าซื้อขายหลักทรัพย์ให้โจทก์ได้แล้วและเรียกให้โจทก์ชำระเงินค่าหลักทรัพย์ โจทก์ปฏิเสธ จำเลยทั้งสองได้เอาเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ไป โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่คืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามคำสั่งของโจทก์ดังฟ้องโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2522 ให้โจทก์จริง โจทก์ได้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไว้กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด จำเลยที่ 2บังคับจำนำเรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินตามตั๋วพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการซื้อและขายหุ้นต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องเป็นประกันเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปพร้อมบำเหน็จและดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันระหว่างเดือนตุลาคม 2520 ถึงเดือนตุลาคม 2521 โจทก์สั่งจำเลยที่ 2ซื้อขายหุ้นของบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายครั้งหลายหน ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์และแจ้งให้โจทก์ทราบทุกครั้ง ทั้งนี้นอกจากหลักประกันที่กล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์ยังได้จำนำหุ้นของบริษัทต่าง ๆ หลายบริษัทไว้กับจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกันด้วย ซึ่งเมื่อคิดบัญชีหักทอนหนี้สินกันจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2522 แล้ว โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2เป็นเงิน 1,178,413 บาท และดอกเบี้ย 83,003.02 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องถึงกำหนดชำระในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยที่ 2 จึงบังคับจำนำเรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากจำเลยที่ 1 ได้เงินมาหักเงินต้นจำนวน 481,467.38 บาท และได้นำเงินปันผลจากหุ้นบางส่วนกับขายทอดตลาดหุ้นที่โจทก์จำนำไว้ ได้เงินมาหักเงินต้นอีก 315,372.64บาท คิดถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2523 โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2อีก 347,950.59 บาท โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยในต้นเงินที่กล่าวในอัตราที่เหมาะสมตามภาวะตลาดการเงินจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 2 ปี9 เดือน 13 วันเป็นเงินดอกเบี้ย 179,562.08 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 527,512.67 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดใช้ให้จำเลยที่ 2พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จ โจทก์บรรยายฟ้องเป็นมูลละเมิดและฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และโจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยที่ 2ให้ชำระหนี้ตามฟ้อง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ใช้เงินจำนวน 527,512.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่เคยสั่งจำเลยที่ 2 ซื้อขายหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ตามฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงคำสั่งซื้อขายหุ้นของโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ซื้อหุ้นให้โจทก์ตามคำสั่ง เพราะใบหุ้น ตราสารการโอนหุ้น ไม่มีชื่อโจทก์อีกทั้งสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหุ้น และบัญชีผู้ถือหุ้นที่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น หุ้นที่จำเลยที่ 2 ซื้อแทนโจทก์ไม่มีผลตามกฎหมายเพราะไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 กรรมสิทธิ์ในหุ้นจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้จ่ายเงินทดรองค่าหุ้นแทนโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งเรียกเงินทดรองจ่ายเกินกว่า 2 ปี นับแต่เวลาที่อ้างว่าได้จ่ายไป จึงขาดอายุความและจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากโจทก์เกินกว่าร้อยละ 12.5 ต่อปี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 443,032.92 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 347,950.59บาท ให้จำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) แล้วนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164ฟ้องแย้งจึงไม่ขาดอายุความ…
ที่โจทก์ฎีกาว่า การโอนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 นั้น เห็นว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ในการซื้อขายหุ้นที่พิพาทกันในคดีนี้นั้นคือ การเก็งกำไรจากการขึ้นลงของราคาหุ้นมากกว่าประสงค์ให้มีการโอนใบหุ้นใส่ชื่อผู้ซื้อ การโอนหุ้นในคดีนี้จึงไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129…”
พิพากษายืน.