แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในวันนัดสืบพยานโจทก์สี่นัดแรก ศาลอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพื่อเจรจากับโจทก์ ครั้นวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งสุดท้าย จำเลยขอเลื่อนคดีอีกโดยอ้างว่า ทนายติดว่าความที่ศาลอื่น ทั้ง ๆ ที่ทนายจำเลยเป็นคนกำหนดวันนัดไว้เองซึ่งหากตรงกับวันนัดในคดีนี้ก็ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน ประกอบกับในวันนัดสืบพยานจำเลยอีก 2 นัดจำเลยก็ขอเลื่อนคดีอีก และในวันนัดสืบพยานจำเลยในนัดต่อมาจำเลยและทนายก็ไม่มาศาลอีก จึงยิ่งทำให้เห็นว่าจำเลยขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้ายก็เพื่อประวิงคดีเท่านั้น ศาลจึงชอบที่จะไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 13,925,874.52 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน10,013,963.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ หนี้ในจำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดจำนวน11,447,592.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน8,413,963.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้นำกองทรัพย์สินของนายเรืองศักดิ์มาชำระหนี้จำนวน 12,325,496.44 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 8,963,963.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระหนี้จำนวน 16,824 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้นำที่ดินที่จำเลยและนายเรืองศักดิ์นำมาจดทะเบียนจำนองโจทก์ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้นำทรัพย์สินอื่นของจำเลยและทรัพย์มรดกของนายเรืองศักดิ์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 22 พฤษภาคม 2532คู่ความขอเลื่อนคดีเพื่อตกลงกัน ศาลชั้นต้นอนุญาตและได้มีการเลื่อนคดีติดต่อกันมาอีกรวม 4 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอเลื่อนเพื่อเจรจาตกลงกับโจทก์ 3 ครั้ง โจทก์ขอเลื่อน 1 ครั้ง เนื่องจากพยานโจทก์ป่วย จากนั้นมีการสืบพยานโจทก์อีก 2 นัด จนถึงในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 28 มีนาคม 2533 ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มอบฉันทะให้เสมียนทนายขอเลื่อนคดี อ้างว่าทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ติดว่าความที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา ทนายโจทก์คัดค้านว่าในนัดที่แล้วทนายจำเลยเป็นผู้กำหนดวันนัดเองประกอบกับวันนั้นโจทก์เตรียมพยานมา 5 ปาก ซึ่งพยานอยู่ที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอให้ได้สืบพยานในวันนั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่าทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้กำหนดวันนัดเองตามคำร้องไม่มีเหตุจำเป็นจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้สืบพยานโจทก์ต่อไปจนเสร็จแล้วโจทก์แถลงหมดพยานและนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 เวลา 13.30นาฬิกา ถึงวันนัดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 29 มิถุนายน 2533 เวลา 9 นาฬิกาถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แถลงขอตัดพยานทั้งหมดขอสืบจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว แต่วันนั้นป่วยมาศาลไม่ได้ ขอเลื่อน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 วันที่ 17 กรกฎาคม2533 ถึงวันนัดฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาล ศาลชั้นต้นจึงสั่งงดสืบพยานจำเลยโดยถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงิน จำนวน13,925,874.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน10,013,963.08 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 16 มีนาคม 2532)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน11,447,592.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน8,413,963.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะทายาทของนายเรืองศักดิ์ศรีกุลเรืองโรจน์ จำนวน 12,325,496.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงิน 8,963,963.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 16,824 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีตามคำร้องลงวันที่ 28 มีนาคม 2533
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาคำสั่งแม้จะระบุว่าจำเลยที่ 5ยื่นฎีกามาด้วย แต่ผู้ฎีกามิได้เป็นทนายความของจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 มิได้เกี่ยวข้องในการขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นการพิมพ์เกินเลยมาถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ยื่นฎีกา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า สมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เลื่อนคดี ตามคำร้องลงวันที่ 28 มีนาคม 2533หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่22 พฤษภาคม 2532 ถึงวันนัดโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอเลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์วันที่ 7 กรกฎาคม 2532 เพื่อเจรจาตกลงกัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ขอเลื่อนคดีติดต่อกันรวมสามนัด อ้างว่ายังเจรจาตกลงกับโจทก์อยู่ ซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้เลื่อนคดีตลอดมา ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 28 มีนาคม2533 ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กลับขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าติดว่าความที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา ทั้งที่ตนเป็นคนกำหนดวันนัดไว้เอง หากตรงกับวันนัดในคดีที่ศาลดังกล่าวก็ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน ต่อจากนั้นในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกในวันที่ 15 พฤษภาคม2533 ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็ขอเลื่อนคดีไปเป็นวันที่ 29มิถุนายน 2533 อ้างว่าติดว่าความคดีอื่นที่ศาลจังหวัดนครราชสีมาเมื่อถึงวันนัดก็ขอเลื่อนคดีอีกโดยขอสืบจำเลยที่ 1 เพียงปากเดียวแต่จำเลยที่ 1 ป่วยมาศาลไม่ได้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยวันที่ 17 กรกฎาคม 2533 แต่พอถึงวันนัดทนายและจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด ดังนี้พฤติการณ์ของทนายจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ที่ขอเลื่อนคดีตามคำร้องลงวันที่ 28 มีนาคม 2533 เห็นได้ชัดว่า เพื่อประวิงคดีเท่านั้น หาใช่เพราะความจำเป็นติดว่าความอื่นไม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีจึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.