แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยืมข้าวเปลือกซึ่งตกลงให้ดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกในอัตรา1 ถังต่อข้าวเปลือกที่ยืม 2 ถังนั้นมิใช่ดอกเบี้ยตามความหมายของกฎหมาย เพราะผลประโยชน์ที่เรียกเป็นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้จากหนี้เงินเท่านั้น เมื่อตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในการยืมข้าวเปลือกกันไว้อย่างไร (แม้คำนวณแล้วผลประโยชน์ตอบแทนจะสูงเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี) ผู้ยืมก็จะต้องชำระให้ตามข้อตกลงนั้น
ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้รวบรวมข้อบัญญัติต่างๆ ในทางแพ่งทั้งหมดขึ้นใช้บังคับ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1981/2511)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมข้าวเปลือกจากโจทก์ 200 ถัง ถังละ 20กิโลกรัม ตกลงให้ดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือก 2 ถัง ต่อ 1 ถัง จำเลยไม่ใช้ตามสัญญา ข้าวเปลือกราคาถังละ 15 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ข้าวที่ยืมและดอกเบี้ยที่ค้างรวม 300 ถัง หากไม่สามารถใช้ข้าวเปลือก ให้ใช้เงินแทน 4,500 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกต่อไปอีก
จำเลยต่อสู้ว่า ไม่เคยยืมข้าวเปลือกจากโจทก์ ไม่เคยพิมพ์ลายนิ้วมือให้โจทก์ สัญญาที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาปลอม
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์แตกต่างกันเป็นพิรุธ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกู้ข้าวเปลือกไปจากโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทำสัญญายืมข้าวเปลือกไปจากโจทก์ต้องใช้คืนและจำเลยไม่โต้แย้งเรื่องราคา ผลประโยชน์ที่จำเลยตกลงให้โจทก์ไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมาย พิพากษากลับให้จำเลยชำระข้าวเปลือกให้โจทก์ 300 ถัง ถ้าไม่สามารถชำระให้ชำระเงินแทน 4,500 บาทให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกอัตราปีละ 1 ถัง ต่อ 2 ถัง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้ข้าวเปลือกเสร็จ ถ้าไม่สามารถชำระเป็นข้าวเปลือกให้ชำระเงินแทนคิดตามราคาท้องตลาด
แต่มีความเห็นแย้งว่า การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเป็นข้าว 1 ถังต่อข้าวที่ยืม 2 ถัง ก็เท่ากับเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 50 ต่อปีขัดต่อประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้ใช้บังคับได้เฉพาะเกี่ยวกับข้าวที่ยืมไปเท่านั้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยยืมข้าวเปลือกไปจากโจทก์จริง
มีปัญหาว่าโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกในอัตรา 1 ถังต่อข้าวเปลือกที่ยืมไป 2 ถังได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยไม่ได้ยืมเงินจากโจทก์ ผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระโดยเรียกว่าเป็นดอกเบี้ยนั้นจึงไม่ใช่ดอกเบี้ยตามความหมายของกฎหมาย เพราะผลประโยชน์ที่จะเรียกเป็นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้จากหนี้เงินเท่านั้น เมื่อจำเลยตกลงยอมให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยยืมข้าวเปลือกของโจทก์ไปใช้ จำเลยก็ต้องชำระให้ตามข้อตกลง
อนึ่ง การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกในอัตราที่เห็นเป็นทำนองว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 ซึ่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่าเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญากันนั้น ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งได้รวบรวมข้อบัญญัติต่าง ๆ ในทางแพ่งทั้งหมดขึ้นใช้บังคับตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1981/2511
พิพากษายืน